Google

Thursday, September 24, 2009

Recognition : States

การรับรองรัฐ

กระบวนการที่องค์กรทางการเมือง (รัฐ) หนึ่ง ๆ ได้กลายเป็นบุคคลระหว่างประเทศในทางกฎหมายระหว่างประเทศ กับทั้งได้รับการยอมรับจากรัฐทั้งหลายให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของประชาคมโลก เมื่อได้มีการรับรองความเป็นรัฐเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว สถานะความเป็นรัฐนั้นจะดำรงคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่ลักษณะความมีอธิปไตยของรัฐนั้นยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์การบริหารหรือในรัฐบาลอย่างไร ก็จะไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสถานะของรัฐแต่อย่างใด

ความสำคัญ เรื่องของการรับรองนี้ มีความสลับซับซ้อนมาก และก็มักเป็นเรื่องที่นำมาถกเถียงกันในแง่กฎหมายระหว่างประเทศอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะมีการยินยอมให้แต่ละรัฐสามารถใช้หลักการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้โดยอำเภอใจนั่นเอง การที่รัฐหรือรัฐบาลใด ๆ ไม่ได้รับการรับรองนั้น ก็จะทำให้รัฐหรือรัฐบาลนั้น ๆ อยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นการสูญเสียเกียรติภูมิเพราะสามารถติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตและทางกฎหมายกับรัฐหรือรัฐบาลอื่นได้อย่างจำกัด ประเด็นทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ถูกนำมาถกเถียงกันมากประเด็นหนึ่ง ก็คือว่า การรับรองนี้ควรเป็นไปตามหลัก “ดีแคลเรทิฟ” หรือว่าหลัก “คอนสทิทิวทิฟ” กล่าวคือ หากเป็นหลักดีแคลเรทิฟ ก็หมายความว่า รัฐหรือรัฐบาลใหม่มีสิทธิและความรับผิดชอบก่อนที่จะได้รับการรับรองอยู่แล้ว การรับรองจึงเป็นเรื่องของการแสดงความต้องการที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตปกติระหว่างกัน และต้องการที่จะให้ศาลภายในและศาลระหว่างประเทศมาทำหน้าที่ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ ตลอดจนแก้ไขข้อขัดแย้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่เหล่านี้ ในความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างสองฝ่าย หลักการแบบดีแคลเรทิฟนี้ได้รับการยอมรับยิ่งกว่าหลักคอนสทิทิวทิฟ ซึ่งบอกว่า การรับรองนี้เป็นการสร้างรัฐหรือรัฐบาลขึ้นมาให้อยู่ในประชาคมโลกโดยตรง ซึ่งหากยึดตามแนวของหลักคอนสทิทิวทิฟ ก็จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาเรื่องจำนวนของรัฐหรือรัฐบาลที่ให้การรับรองนั้น ว่ามีจำนวนเท่าใดถึงจะถือว่าเป็นการรับรอง หรือในกรณีที่รัฐหรือรัฐบาลซึ่งไม่ได้รับการรับรองนั้น จะมีอิสระที่จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นไปตามแนวทฤษฎีของคอนสทิทิวทิฟ ก็หมายความว่า เมื่อได้มีการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาแวร์ซายส์แล้ว ผู้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้ทำการรับรองและได้สร้างรัฐเชโกสโลวะเกีย และรัฐโปแลนด์ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1919 ในแนวปฏิบัติระหว่างประเทศนั้น แต่ละรัฐมีอิสระที่ใช้ทฤษฎีดีแคลเรทิฟ หรือทฤษฎีคอนสทิทิวทิฟ และการที่รัฐจะตัดสินใจว่า จะใช้ทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใด ก็มักยกเอาเรื่องของการเมืองมาพิจารณากันเป็นหลักเสมอ

No comments:

Post a Comment