Google

Thursday, September 24, 2009

Peaceful Settlement : Plebiscite

การระงับข้อพิพาทโดยสันติ : การออกเสียงประชามติ

การให้ประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งกำลังมีปัญหากันอยู่นั้น ได้ออกเสียงลงประชามติกัน วิธีการออกเสียงประชามตินี้ ได้ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวโยงกับการยกดินแดนให้กัน ถึงแม้ว่าจะมีสนธิสัญญาการยกดินแดนกำหนดไว้เป็นที่แน่นอนว่า จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ แต่ก็ไม่มีหลักจารีตประเพณีของกฎหมายระหว่างประเทศ มาบังคับให้รัฐใด ๆ ต้องขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อนที่จะโอนอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนใด ๆ ตามกฎหมายแต่อย่างใด

ความสำคัญ แนวปฏิบัติในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโอนดินแดนกันนี้ ถึงแม้กฎหมายระหว่างประเทศจะมิได้บังคับว่าต้องกระทำ แต่ก็มีการปฏิบัติตามวิธีการนี้อยู่บ่อย ๆ นับตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เหตุผลที่ให้จัดการออกเสียงประชามติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ก็สืบเนื่องมาจากแนวความคิดแบบประชาธิปไตย ที่ถือว่าประชาชนเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย และจากหลักการที่ว่าประชาชาติมีสิทธิที่จะมีการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเอง ในสนธิสัญญาสันติภาพต่าง ๆ ที่ลงนามกันในช่วงปี ค.ศ. 1919 มีบางฉบับได้กำหนดให้จัดการออกเสียงประชามติก่อนจะทำการโอนดินแดนกัน แต่แนวปฏิบัตินี้มิได้นำมาใช้ในการโอนดินแดนอันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้ว่าอินเดียและปากีสถานจะได้ตกลงกันเมื่อปี ค.ศ. 1949 ว่าจะใช้วิธีการออกเสียงประชามติในกรณีแคว้นเคชเมียร์ แต่สหประชาชาติก็ยังไม่สามารถจัดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติได้สำเร็จ ตัวอย่างของการออกเสียงประชามติที่ได้จัดให้มีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ ที่จัดโดยสหประชาชาติในดินแดนภาวะทรัสตีเดิมหลายแห่งในทวีปแอฟริกา ก่อนที่ดินแดนเหล่านั้นจะได้รับเอกราช ต่อมาสหประชาชาติก็ได้เคยทำความตกลงกับอินโดนีเซีย เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินว่า คนพื้นเมืองบนเกาะนิวกินี (เวสต์ อิเรียน) ซึ่งเดิมอยู่ในปกครองของเนเธอร์แลนด์ ต้องการจะอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียหรือไม่ นอกจากนี้แล้วก็ยังได้มีการแนะนำให้ใช้วิธีการออกเสียงประชามตินี้เป็นแนวทางแก้ไขข้อพิพาทที่มีมายาวนานระหว่างอังกฤษกับสเปน เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของสองประเทศเหนือยิบรอลตาร์

No comments:

Post a Comment