Google

Thursday, September 24, 2009

Diplomatic Personnel : Diplomat

บุคคลทางการทูต : นักการทูต

ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากประมุขรัฐให้ไปทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชื่อเรียกและตำแหน่งของนักการทูต ที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลง คองเกรสออฟเวียนนา (ปี ค.ศ.1815) และข้อตกลงแอซ์-ลา-ชาแปลล์ (ปี ค.ศ.1818) มีการจัดไว้หลดหลั่นตามลำดับดังนี้ (1) เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม และเอกอัครสมณทูตแห่งวาติกัน (2) อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม และอัครสมณทูตแห่งวาติกัน (3) ราชทูต และ (4) อุปทูต และอุปทูตผู้รักษาการ แม้ว่าตำแหน่งเอกอัครราชทูตจะเป็นตำแหน่งสูงสุด แต่นักการทูตที่มีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต และที่มีตำแหน่งเป็นอัครราชทูตนั้น ต่างก็อาจทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะของตนที่ไปประจำอยู่ ณ ต่างประเทศ และก็สามารถได้รับมอบอำนาจจากประมุขรัฐตนให้ไปประจำอยู่ ณ ต่างประเทศ เพื่อรับผิดชอบในการควบคุมบังคับบัญชาคณะเจ้าหน้าที่ ณ สถานทูตของตนได้เหมือน ๆ กัน ในอดีตสถานที่ซึ่งคณะทูตไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ต่างประเทศ จะเรียกว่า “สถานเอกอัครราชทูต” เมื่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดมีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต และจะเรียกว่า “สถานอัครราชทูต” เมื่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดมีตำแหน่งเป็นอัครราชทูต แต่ภารกิจทางการทูตทุกอย่างในปัจจุบันจะทำโดยสถานเอกอัครราชทูตโดยมีเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าทั้งสิ้น ส่วนอุปทูตนั้นหมายถึง ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นนักการทูตไปทำหน้าที่ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งตัว เอกอัครราชทูต หรืออัครราชทูตไปประจำ หรือให้ไปทำหน้าที่ตอนที่หัวหน้าคณะทูตถูกเรียกตัวกลับประเทศก็ได้ สำหรับเจ้าหน้าที่อาวุโสทางการทูต ซึ่งรับผิดชอบในสถานทูตเป็นการชั่วคราว ในกรณีที่เอกอัครราชทูตหรืออัครราชทูตไม่อยู่ หรือเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือถึงแก่อสัญกรรม จะเรียกกันว่า อุปทูตผู้ทำการแทน ส่วนแนวปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เขาจะใช้คำว่า “ผู้แทนทางการทูต” สำหรับผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศให้ไปประจำ ณ รัฐต่างประเทศที่มีฐานะยังเป็นเมืองขึ้นของรัฐอื่นอยู่ นักการทูตมีอันดับอาวุโสลดหลั่นกันตามลำดับวันที่ตนเดินทางไปถึงเมืองหลวงของรัฐนั้น ๆ เอกอัครราชทูตที่มีอาวุโสสูงสุด เรียกว่า คณบดีทูต ประจำเมืองหลวงแห่งนั้น ๆ และบุคคลผู้นี้จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนของคณะทูตานุทูต ในเวลาจะติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศของรัฐนั้น ๆ

ความสำคัญ นักการทูตเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างสองรัฐบาล เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกันมากมายหลายเรื่องด้วยกัน นักการทูตจะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนประเทศของตน ด้วยการคอยสอดส่องดูแลแล้วเสนอรายงานกลับประเทศตนในเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศตนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในเวลาติดต่อสัมพันธ์กับประเทศเจ้าบ้านที่ตนไปประจำอยู่ ในเวลาเดียวกัน เวลาจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร ก็ต้องคอยคำนึงอยู่เสมอว่าตนเป็นตัวอย่างของประชาชนทั้งประเทศ นักการทูตต้องทำตัวให้เป็นบุคคลที่พึงปรารถนา คือให้เป็นที่ยอมรับของประเทศเจ้าบ้าน และในขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องและขยายผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนของตนไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ดี หน้าที่ขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของนักการทูต ก็คือ การดำเนินการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางประนีประนอมและบรรลุถึงข้อตกลงให้ได้

No comments:

Post a Comment