Google

Thursday, September 24, 2009

Diplomacy

การทูต

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโดยผ่านทางผู้แทนที่เป็นทางการ การทูตนี้อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกระบวนการของความสัมพันธ์ต่างประเทศทุกอย่างทั้งที่เป็นส่วนของการกำหนดนโยบายและส่วนของการดำเนินนโยบาย ในแง่ที่มีความหมายกว้าง ๆ นี้ การทูตและนโยบายต่างประเทศเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในแง่ที่มีความหมายแคบเข้ามาหรือในแง่ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมหรือตามประเพณีนั้น การทูตนี้จะเป็นเรื่องของวิธีการและกลไกต่าง ๆ ที่จะให้นโยบายต่างประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายได้ ในแง่ที่มีความหมายแคบลงมาหน่อยนี้ การทูตจึงหมายถึงเทคนิคทางปฏิบัติการที่รัฐใดรัฐหนึ่งนำมาใช้เพื่อขยายผลประโยชน์ออกไปนอกเขตแดนหรือนอกเขตอำนาจศาลของตน เมื่อรัฐต่าง ๆ ต้องมีการเกี่ยวโยงและพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น จึงทำให้การประชุมระหว่างชาติ การประชุมในแบบพหุภาคี และการทูตแบบประชุมรัฐสภามีปริมาณเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐต่าง ๆ มีการติดต่อสัมพันธ์กันบ่อยครั้งขึ้น และเรื่องที่ติดต่อกันนั้นก็มีหลายเรื่องด้วยกัน จึงทำให้กิจกรรมทางการทูตกลายเป็นเรื่องที่ทำกันในระดับทวิภาคีไป และกิจกรรมทางการทูตเหล่านี้ ก็ได้กระทำกันโดยผ่านทางช่องทางการทูตปกติ กล่าวคือ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ และผ่านทางผู้แทนทางการทูตที่ส่งไปประจำอยู่ตามประเทศต่าง ๆ แต่หากเป็นเรื่องที่วิกฤตมาก ๆ บางทีก็จะใช้วิธีเจรจาในระดับสูงสุด คือ ให้ประมุขรัฐบาลเข้าประชุมในการทูตระดับสุดยอด

ความสำคัญ การทูตที่นำมาใช้กันมีรูปแบบดังนี้ คือ การทูตแบบเปิดเผยหรือการทูตแบบลับ การทูตแบบทวิภาคีหรือการทูตแบบพหุภาคี การทูตแบบระดับรัฐมนตรีหรือการทูตแบบระดับประมุขรัฐบาล ซึ่งแต่ละอย่างจะมีการใช้แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ในแต่ละสถานการณ์ ในแต่ละสภาวะแวดล้อมทางการเมือง และในแต่ละผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง การทูตทุกรูปแบบมีส่วนเกื้อกูลต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เป็นไปด้วยความราบรื่น และเป็นเทคนิควิธีทางการเมืองที่สามัญที่สุดสำหรับใช้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติ แม้ว่าจะได้มีการนำเอาเทคโนโลยีมาสนับสนุนอย่างไร แต่ก็ยังถือว่าการทูตนี้เป็นศิลป์มากกว่าที่จะเป็นศาสตร์ และถือว่าการติดต่อระหว่างบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในความสัมพันธ์แห่งรัฐทั้งหลาย

No comments:

Post a Comment