Google

Thursday, September 24, 2009

Peaceful Settlement : Inquiry

การระงับข้อพิพาทโดยสันติ : การสืบสวน

การค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการและโดยปราศจากความลำเอียง เกี่ยวกับเรื่องที่คู่กรณีกำลังมีข้อพิพาทระหว่างประเทศอยู่นั้น วิธีดำเนินการสืบสวนนี้ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นมา ซึ่งจะแต่งตั้งโดยคู่กรณีเองก็ได้ หรือจะแต่งตั้งโดยผู้แทนองค์การระหว่างประเทศก็ได้ หลังจากที่คณะกรรมการได้ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ก็จะรายงานไปยังคู่กรณีหรือไปที่องค์การระหว่างประเทศนั้น หากการสืบสวนที่ว่านี้ไม่มีการใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยสันติอย่างอื่นติดตามมา เช่น การไกล่เกลี่ย หรือการช่วยเป็นสื่อกลาง คู่กรณีพิพาทก็ยังมีอิสระที่จะตัดสินใจว่าควรจะใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการเสนอมานั้นหรือไม่

ความสำคัญ เหตุผลที่ให้มีการใช้การสืบสวนนี้ก็เพราะมีความคิดว่า หากได้ข้อเท็จจริงที่เที่ยงตรงและไม่มีอคติแล้ว ก็จะช่วยให้คู่กรณีสามารถระงับข้อพิพาทระหว่างกันได้สำเร็จ นอกจากนี้แล้วคู่กรณีพิพาทเองก็อาจต้องการให้นำเรื่องของตนผ่านวิธีดำเนินการสืบสวนนี้ด้วยก็ได้ เพราะเป็นวิธีการที่ฝ่ายที่สามมิได้ให้ข้อเสนอแนะวิธีระงับข้อพิพาทเหมือนอย่างการไกล่เกลี่ยและการช่วยเป็นสื่อกลาง วิธีการแบบสืบสวนนี้ได้ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาแบบทวิภาคีต่าง ๆ แต่ที่เป็นแบบเป็นแผนจริง ๆ มีปรากฏครั้งแรกในอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติ (ค.ศ. 1899) นอกจากนี้แล้ว วิธีการแบบสืบสวนนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในวิธีการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติที่มีอยู่ในกติกาสันนิบาตชาติ และในกฎบัตรสหประชาชาติ การค้นหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสืบสวนนี้ เคยได้ใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ดอกเกอร์แบงก์ (เมื่อปี ค.ศ. 1904) ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเรือรบของรัสเซียได้จมเรือประมงของอังกฤษ นอกจากนี้แล้ว สันนิบาตชาติก็เคยใช้วิธีการนี้ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน (ลิตตัน คอมมิสชั่น) เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรียเมื่อปี ค.ศ. 1931 ความพยายามที่จะให้เกิดการประนีประนอมโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้จากคณะกรรมการชุดนี้ประสบความล้มเหลว และก็เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติในที่สุด

No comments:

Post a Comment