Google

Thursday, September 24, 2009

Recognition : Governments

การรับรองรัฐบาล

การกระทำอันเป็นทางการ เช่น มีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นการยอมรับความมีอยู่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง และระบุถึงความพร้อมของตนที่จะดำเนินการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลนั้น ๆ การรับรองรัฐใหม่ จะเป็นการรับรองที่สมบูรณ์มิได้หากไม่มีการรับรองรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจนั้นเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จึงมักเกิดความสับสนขึ้นเกี่ยวกับการรับรองรัฐและการรับรองรัฐบาล การรับรองรัฐนั้น เมื่อได้ให้การรับรองไปแล้ว การรับรองนั้นจะดำรงอยู่ตราบเท่าที่คุณสมบัติความเป็นรัฐของรัฐนั้นยังมีอยู่ต่อไป แม้ว่ารัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งของรัฐนั้นจะมิได้รับการรับรองก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น หลังการปฏิวัติ (บอลเชวิก) ในรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1917 สหรัฐอเมริกายังคงให้การรับรองรัฐรัสเซียอยู่ต่อไป แม้ว่าจะไม่ให้การรับรองรัฐบาลโซเวียตนั้นจวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1933 ก็ตาม ส่วนการรับรองรัฐบาลจะไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดกาล อาจจะให้การรับรองหรือถอนการรับรอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในแต่ละครั้งก็ได้ อย่างไรก็ดี การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตก็มิใช่การถอนการรับรองแต่อย่างใด

ความสำคัญ นักกฎหมายระหว่างประเทศมีความคิดแยกจากกันเป็นสองฝ่าย เกี่ยวกับข้อที่ว่าการรับรองรัฐบาลเป็นเรื่องของสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมายหรือไม่ แต่จากแนวปฏิบัติของรัฐต่างๆบ่งชี้ว่า การรับรองถือว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมืองฝ่ายเดียว แม้ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรองแก่รัฐบาลใหม่ๆที่แสดงว่าสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลแต่ทว่าในช่วงการบริหารของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันนั้น สหรัฐอเมริกาได้ตั้งเป็นเงื่อนไขไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่นั้นๆจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือมีความชอบธรรมจึงจะได้รับการรับรอง ในแถลงการณ์ของหลักนิยมเอสตราดา นายดอน เจนาโร เอสตราดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกมีความเห็นเมื่อปี ค.ศ. 1930 ว่า การให้การรับรองหรือถอนการรับรองด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นการแทรกแซงที่ไม่สมควรและน่าตำหนิในกิจการภายในของรัฐอธิปไตยอื่น ทั้งนี้เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการใช้ดุลยพินิจจากภายนอกมาตัดสินคุณสมบัติทางกฎหมายของรัฐบาลต่างประเทศ ข้างฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักนิยมเอสตราดานี้ได้ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของการรับรองมิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตัดสินแต่ทว่าเป็นเพียงความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ในการวางข้อกำหนดลักษณะของความเป็นผู้แทนที่จำเป็นให้แก่รัฐบาลใหม่ ใน ค.ศ. 1932 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา นายเฮนรี สติมสัน แถลงในคราวที่มีปฏิกิริยาตอบโต้ญี่ปุ่นที่บุกเข้าไปยึดครองแมนจูเรียว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่รับรองความถูกต้องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยที่เป็นเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศหรือสิทธิทางสนธิสัญญา(หลักนิยมสติมสัน) ในช่วงเกิดสงครามเย็นอยู่นั้นมักให้การรับรองและถอนการรับรองโดยถือว่าเป็นเทคนิคทางการเมืองที่กระทำตามอำเภอใจโดยให้ขึ้นอยู่กับการตีความผลประโยชน์ของรัฐโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่สหรัฐอเมริกาปฎิเสธที่จะให้การรับรองรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่าง ค.ศ. 1949 ถึง 1979

No comments:

Post a Comment