Google

Thursday, September 24, 2009

Diplomatic Exchange : Diplomatic Privileges and Immunities

การแลกเปลี่ยนทางการทูต : เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต

ข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่นักการทูตมิต้องตกอยู่ในบังคับของอำนาจศาลแพ่งและศาลอาญาของรัฐเจ้าถิ่นที่ตนไปประจำอยู่นั้น เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตนี้จะรวมไปถึงการมีอิสระจากการถูกจับกุม จากการถูกสอบสวน จากการเป็นผู้ต้องหาทางคดีแพ่ง จากการถูกหมายเรียกศาล และจากการถูกลงโทษตามกฎหมายท้องถิ่นนั้น นอกจากนี้แล้ว ที่พำนักอาศัย สำนักงาน และเอกสารของนักการทูต ก็จะได้รับการยกเว้น มิให้มีการบุกรุกเข้าไป มิให้ถูกตรวจค้น และถูกยึด เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ให้แก่นักการทูตนี้ ปกติแล้วจะอนุโลมให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตคนอื่น ๆ ตลอดจนครอบครัวของพวกเขาด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่กงสุลนั้น มิได้มีสถานภาพเป็นนักการทูต แต่เนื่องจากมีภาระหน้าที่สำคัญก็อาจจะมีกฏหมาย สนธิสัญญา และวิธีปฏิบัติกำหนดไว้เป็นพิเศษให้มีเอกสิทธิ์พิเศษแตกต่างไปจากชาวต่างประเทศอื่น ๆ ก็ได้ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของผู้แทนหรือนักการทูตต่างประเทศที่ไปประจำอยู่ในสหประชาชาติ ก็เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้กระทำไว้ระหว่างองค์การสหประชาชาติ กับสหรัฐอเมริกาประเทศเจ้าบ้าน

ความสำคัญ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตนี้เป็นข้อยกเว้นต่อข้อกำหนดทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่บอกไว้ว่า รัฐอธิปไตยแต่ละรัฐมีอำนาจสูงสุดภายในอาณาเขตของตนเอง และมีอำนาจศาลเหนือบุคคลทุกคน และเหนือสิ่งทุกสิ่งที่เข้าไปอยู่ในดินแดนของตนนั้น ซึ่งหากไม่มีข้อยกเว้นทางการทูตไว้เช่นนี้แล้ว รัฐบาลต่าง ๆ ก็จะถูกขัดขวาง มิให้ดำเนินงานทางด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของตนด้วยความราบรื่นได้ เนื่องจากว่าผู้แทนทางการทูตของตน ก็จะถูกขัดขวางมิให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของรัฐบาลฝ่ายเจ้าบ้านนั้นได้อย่างเต็มที่ หรือมิฉะนั้นก็อาจถูกขัดขวางมิให้เดินทางกลับประเทศหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจทางการทูตของตนแล้วก็ได้ แต่ถึงจะมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตอย่างไร เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ นักการทูตก็มีความรับผิดชอบที่จะต้องเคารพกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของรัฐผู้เป็นเจ้าบ้านนั้นด้วย เพราะหากพฤติกรรมของนักการทูตคนใดไม่เป็นที่ยอมรับเสียแล้ว รัฐบาลของนักการทูตผู้นั้นอาจจะถูกรัฐบาลฝ่ายเจ้าบ้านขอร้องให้เรียกนักการทูตผู้นั้นกลับประเทศเสียก็ได้ หรือไม่ก็ยกเลิกการให้ความคุ้มกันทางการทูตนั้นเสียก็ได้ ซึ่งก็ส่งผลให้นักการทูตผู้นั้นต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการทางแพ่งและทางอาญาเหมือนบุคคลธรรมดา นอกจากนั้นแล้ว รัฐเจ้าบ้านอาจจะประกาศให้นักการทูตผู้หนึ่งผู้ใด เป็นบุคคลมิพึงปรารถนา แล้วขับนักการทูตผู้นั้นออกไปจากประเทศตนเสียก็ได้ อย่างไรก็ดี การปฏิบัติต่อนักการทูตในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร ก็อาจจะนำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศก็ได้ ดังเช่นกรณีวิกฤติการณ์จับตัวประกันที่เกิดขึ้นระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ.1979-1981

No comments:

Post a Comment