Google

Thursday, September 24, 2009

Diplomatic Tool : Appeasement

เครื่องมือทางการทูต : การยอมสละเพื่อสันติ

การยอมเสียสละผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งตอบแทนเพียงน้อยนิด หรือเป็นการจำยอมเสียสละประโยชน์โดยที่มิได้รับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการตอบแทน ข้อตกลงแบบนี้ อาจจะเป็นผลมาจากความอ่อนแอ หรือจากความสับสนว่าอะไรคือผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และอะไรคือผลประโยชน์ที่สำคัญรองลงมา ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ ก็คือ การยอมสละเพื่อสันติในที่ประชุมมิวนิคเมื่อปี ค.ศ. 1938 ซึ่งคราวนั้นนายกรัฐมนตรี เนวิลล์ แชมเบอร์เลน แห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี เอดูอาร์ด ดาลาดีเยร์ แห่งฝรั่งเศส ได้ยอมรับข้อเรียกร้องของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ให้ดินแดนสุเดเตนแลนด์ ในเชโกสโลวะเกีย เป็นของเยอรมนี เพื่อแลกเปลี่ยนกับคำมั่นสัญญาแบบลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะทำให้เกิดสันติภาพ

ความสำคัญ เมื่อมีการยอมผ่อนปรนให้แก่นักการทูตฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้นเมื่อใด การยอมสละเพื่อสันตินั้นจะถูกกล่าวหาว่าเป็นความอัปยศทางการทูต จากการที่ได้มีการพัฒนาเทคนิคการสื่อสารสมัยใหม่ขึ้นมา จากการที่ประชาชนคอยจับตามองนักการทูตอยู่ตลอดเวลา และจากการที่มีแนวความคิดในเรื่อง “การทูตแบบเปิดเผย” เกิดขึ้น เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้การเจรจาแบบการทูตแท้ ๆ กระทำได้โดยยาก สาธารณชนทั่วไปมักจะไม่เข้าใจว่า การเจรจากันนั้นเป็นเรื่องของการแสวงหาข้อตกลง โดยผ่านทางการอะลุ่มอล่วย ด้วยเหตุนี้ก็จะพากันมองไปว่า การอะลุ่มอล่วยกันนี้เป็นการยอมสละเพื่อสันตินี้ไปก็ได้ การเจรจากันหากถูกมองไปว่าเป็นเทคนิคเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ชัยชนะทางการทูต” แล้ว มันก็จะไปจำกัดโอกาสในการเจรจาของนักการทูตได้ ทั้งอาจจะไปขัดขวางการพัฒนาสังคมโลกให้มีเสถียรภาพ ซึ่งมีรากฐานมาจากการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยผ่านทางการตกลงร่วมกัน

No comments:

Post a Comment