Google

Thursday, September 24, 2009

Diplomacy

การทูต

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโดยผ่านทางผู้แทนที่เป็นทางการ การทูตนี้อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกระบวนการของความสัมพันธ์ต่างประเทศทุกอย่างทั้งที่เป็นส่วนของการกำหนดนโยบายและส่วนของการดำเนินนโยบาย ในแง่ที่มีความหมายกว้าง ๆ นี้ การทูตและนโยบายต่างประเทศเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในแง่ที่มีความหมายแคบเข้ามาหรือในแง่ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมหรือตามประเพณีนั้น การทูตนี้จะเป็นเรื่องของวิธีการและกลไกต่าง ๆ ที่จะให้นโยบายต่างประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายได้ ในแง่ที่มีความหมายแคบลงมาหน่อยนี้ การทูตจึงหมายถึงเทคนิคทางปฏิบัติการที่รัฐใดรัฐหนึ่งนำมาใช้เพื่อขยายผลประโยชน์ออกไปนอกเขตแดนหรือนอกเขตอำนาจศาลของตน เมื่อรัฐต่าง ๆ ต้องมีการเกี่ยวโยงและพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น จึงทำให้การประชุมระหว่างชาติ การประชุมในแบบพหุภาคี และการทูตแบบประชุมรัฐสภามีปริมาณเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐต่าง ๆ มีการติดต่อสัมพันธ์กันบ่อยครั้งขึ้น และเรื่องที่ติดต่อกันนั้นก็มีหลายเรื่องด้วยกัน จึงทำให้กิจกรรมทางการทูตกลายเป็นเรื่องที่ทำกันในระดับทวิภาคีไป และกิจกรรมทางการทูตเหล่านี้ ก็ได้กระทำกันโดยผ่านทางช่องทางการทูตปกติ กล่าวคือ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ และผ่านทางผู้แทนทางการทูตที่ส่งไปประจำอยู่ตามประเทศต่าง ๆ แต่หากเป็นเรื่องที่วิกฤตมาก ๆ บางทีก็จะใช้วิธีเจรจาในระดับสูงสุด คือ ให้ประมุขรัฐบาลเข้าประชุมในการทูตระดับสุดยอด

ความสำคัญ การทูตที่นำมาใช้กันมีรูปแบบดังนี้ คือ การทูตแบบเปิดเผยหรือการทูตแบบลับ การทูตแบบทวิภาคีหรือการทูตแบบพหุภาคี การทูตแบบระดับรัฐมนตรีหรือการทูตแบบระดับประมุขรัฐบาล ซึ่งแต่ละอย่างจะมีการใช้แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ในแต่ละสถานการณ์ ในแต่ละสภาวะแวดล้อมทางการเมือง และในแต่ละผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง การทูตทุกรูปแบบมีส่วนเกื้อกูลต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เป็นไปด้วยความราบรื่น และเป็นเทคนิควิธีทางการเมืองที่สามัญที่สุดสำหรับใช้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติ แม้ว่าจะได้มีการนำเอาเทคโนโลยีมาสนับสนุนอย่างไร แต่ก็ยังถือว่าการทูตนี้เป็นศิลป์มากกว่าที่จะเป็นศาสตร์ และถือว่าการติดต่อระหว่างบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในความสัมพันธ์แห่งรัฐทั้งหลาย

Diplomacy, Conference

การทูตแบบจัดการประชุม

การเจรจาทางการทูตแบบพหุภาคีเต็มรูปแบบ ที่ดำเนินการในที่ประชุมระหว่างประเทศ การทูตแบบจัดการประชุมนี้ ในทางประวัติศาสตร์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสถาปนาสันติภาพหลังสงครามครั้งสำคัญ ๆ โดยย้อนประวัติศาสตร์กลับไปเมื่อตอนเริ่มต้นมีระบบรัฐแบบตะวันตกขึ้นมาแล้ว ก็ได้มีการใช้การทูตแบบนี้ ในการประชุมใหญ่ที่เมืองเวสต์ฟาเลีย ( ระหว่างปี ค.ศ. 1642 - 1648) ซึ่งส่งผลให้สงคราม 30 ปียุติลงได้ การทูตแบบจัดการประชุมมีการนำมาใช้บ่อยครั้งยิ่งขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และได้จัดรูปแบบเป็นสถาบันและเป็นระบบใช้ได้ในระดับโลก เมื่อได้มีการจัดตั้งสันนิบาตชาติขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1919 ต่อมาเมื่อสหประชาชาติได้เข้าสืบทอดหน้าที่แทนสันนิบาตชาติแล้วนั้น ก็ได้ทำหน้าที่เป็นที่ประชุมทางการทูตในระดับโลกอยู่เป็นประจำ ส่วนเรื่องที่นำมาประชุมกันก็คือ ปัญหาระดับระหว่างประเทศในด้านการเมือง กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเทคนิค ส่วนการทูตแบบจัดการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำ โดยมีการจำกัดในเรื่องหัวข้อและจำกัดตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ก็เช่นกัน อย่างเช่น การประชุมที่จัดขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่จัดโดยองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) หรือที่จัดโดยองค์การเอกภาพแอฟริกา (โอเอยู) ในทำนองเดียวกัน การทูตแบบจัดการประชุมเฉพาะกิจ ก็ได้มีการนำไปใช้โดยกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในที่ประชุมเมืองบันดุง (ประเทศอินโดนีเซีย) ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1955 เมื่อวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ก็ได้มีการจัดประชุมหลากหลายทั้งที่เป็นแบบเฉพาะกิจ และที่เป็นการจัดในระดับสถาบัน และก็มีหลายครั้งที่จัดขึ้น โดยองค์การชำนัญพิเศษแห่งประชาชาติ ลักษณะที่เป็นทางการและที่เป็นแบบกึ่งรัฐสภาของการทูตแบบจัดการประชุมนี้ จะใช้สำหรับกรณีเลือกประธาน กรณีที่จะมีการยอมรับวิธีดำเนินการแบบมาตรฐาน กรณีจะจัดตั้งโครงสร้างของกรรมการที่จะมาทำงาน และกรณีที่จะเลือกระบบมาใช้ในการตัดสินใจ

ความสำคัญ การทูตแบบจัดการประชุมนี้ เป็นการทูตแบบเปิด ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับการทูตแบบ “ลับ” คือ เป็นแบบที่ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา เคยบอกไว้ว่า “ข้อตกลงแบบเปิดเผย ที่มีการลงนามกันอย่างเปิดเผย” ลักษณะพหุภาคีของการทูตแบบจัดการประชุมนี้ จะอำนวยประโยชน์ให้แต่ละฝ่ายสามารถร้องทุกข์ของฝ่ายตนได้ ให้สามารถรู้ถึงปัญหา สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน และสามารถทำงานด้วยกันเพื่อห1าทางแก้ปัญหาร่วมกันได้ การทูตแบบจัดการประชุมนี้ ในฐานะที่เป็นกลไกสำหรับใช้ดำเนินการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อนำมาใช้แล้วก็มิได้มีหลักประกันว่าจะทำให้สามารถทำการตกลงกันได้เสมอไป ในบันทึกของทั้งสันนิบาตชาติและสหประชาชาติ มีเรื่องที่ “ตกลงกันไม่ได้แบบเปิดเผย ที่มีการลงนามกันอย่างเปิดเผย” นี้เต็มไปหมด อย่างไรก็ดี เทคนิควิธีของการทูตแบบจัดการประชุมนี้ อาจจะไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหา เมื่อผลประโยชน์ของชาติไม่สามารถประนีประนอมกันได้ ก็จะใช้วิธีนี้ประชุมกันเพื่อถกแถลงและต่อรองกัน

Diplomacy : Conversations

การทูต : การพูดจาหยั่งเชิง

การแลกเปลี่ยนทรรศนะทางการทูตระหว่างสองรัฐบาล การพูดจาหยั่งเชิงกันนี้อาจจะดำเนินการเพื่อหาข่าวสารอย่างเดียว หรืออาจจะนำไปสู่การเจรจาลงลึกในรายละเอียดมากยิ่งขึ้นด้วยก็ได้ การพูดจาหยั่งเชิงเป็นกิจกรรมทางการทูตในระดับปกติ ที่ดำเนินการโดยเอกอัครราชทูต หรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตก็ได้ แต่ก็อาจจะมีการพูดจาหยั่งเชิงกันแบบนี้ โดยใช้ผู้แทนทางการทูตที่ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นกรณีพิเศษก็ได้

ความสำคัญ การพูดจาหยั่งเชิงกันนี้ เป็นการพูดจากรุยทางกันเอาไว้ก่อน โดยที่จะยังไม่มีการตกลงเป็นการผูกมัดใด ๆ เมื่อได้มีการติดต่อพบปะพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องระหว่างสองฝ่ายแล้ว ก็จะช่วยให้นักการทูตสามารถตัดสินใจได้ว่า เมื่อใดควรจะได้ริเริ่มนโยบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ การพูดจาหยั่งเชิงนี้ ซึ่งบางทีเรียกว่า “การทูตเงียบ” จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับทวิภาคีและในระดับพหุภาคี ในสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ในเมืองหลวงของชาติต่าง ๆ และในการประชุมระดับนานาชาติ ก่อนจะมีการตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ในทุกครั้งก็จะมีการพูดจาหยั่งเชิงไม่เป็นทางการเช่นนี้ เป็นการเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนาสมานฉันท์ระหว่างทั้งสองฝ่ายเสียก่อน

Diplomacy : Fait Accompli

การทูต : เรื่องที่ยุติแล้ว

กระทำของรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์ใหม่ต่อรัฐ หรือกลุ่มรัฐอื่น หลังจากเกิด “เรื่องที่ยุติแล้ว” นี้ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่จะมีทางเลือกลดลง เป็นทำอะไรไม่ได้อีก หรือไม่ก็ทำการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงแล้วนั้น

ความสำคัญ ในทางการทูตนั้น “เรื่องที่ยุติแล้ว” นี้เป็นการกระทำฝ่ายเดียว เป็นการโต้แย้งต่อการเจรจา และมักเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชะงักงันทางการทูต หรือบางทีก็อาจจะเป็นการริเริ่มอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะนำไปสู่ความได้เปรียบแก่ฝ่ายตน และเป็นการกระทำที่หวังผลไว้ว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะยอมรับการริเริ่มหรือนโยบายนี้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เริ่มสร้างกำลังทหารให้แก่อาณาจักรไรน์แลนด์(ปี ค.ศ 1936) เป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ กรณีที่มีการสร้างกำแพงกรุงเบอร์ลินขึ้นมา ก็ทำให้ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกต้องยอมรับว่าเป็น “เรื่องที่ยุติแล้ว” อีกเหมือนกัน การตัดสินใจที่จะกระทำตามแบบอย่างที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องเสี่ยงมากเหมือนกัน เนื่องจากว่าอีกฝ่ายหนึ่งยังมีอิสระที่จะแสดงปฏิกิริยาออกมาในฝ่ายของตนได้อยู่

Diplomacy : Hegemony

การทูต : การครองความเป็นใหญ่

การที่รัฐใดรัฐหนึ่งแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำหรือเข้าควบคุมเหนือรัฐอื่นหรือภูมิภาคอื่น นโยบายการครองความเป็นใหญ่นี้ อาจจะส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างลูกพี่ลูกน้อง หรือสัมพันธภาพระหว่างรัฐที่เป็นเครือข่ายกัน และก็อาจส่งผลให้เกิดการสร้างเขตอิทธิพลขึ้นมาได้ด้วย

ความสำคัญ ความแตกต่างทางด้านอำนาจ หากมีมาก ๆ แล้ว ก็อาจก่อให้เกิดสัมพันธภาพแบบการครองความเป็นใหญ่ขึ้นมาระหว่างรัฐที่เชื่อกันว่ามีเอกราชและมีความเท่าเทียมกันได้ การที่รัฐหนึ่งมีอำนาจเหลือล้น ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีขึ้นมาด้วยเจตนาดีแค่ไหน ก็จะถือว่ามีศักยภาพที่จะคุกคามต่ออีกรัฐหนึ่งได้ ดังนั้น การที่รัฐมีเอกราชจะยอมทนอยู่กับการมีสัมพันธภาพแบบที่ว่านี้อยู่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดโดยที่จะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงเห็นจะไม่มีแน่ ดังจะเห็นได้จากประเทศที่อยู่ในเครือข่ายของสหภาพโซเวียตในทวีปยุโรปตะวันออกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศ อย่างเช่น โรมาเนีย และโปแลนด์ เป็นต้น ได้พยายามดิ้นรนเพื่อมีเอกราชพ้นจากการครอบงำของสหภาพโซเวียตมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ.1968 เมื่อเชโกสโลวะเกียพยายามสร้างระบบเสรีให้แก่ระบบคอมมิวนิสต์ของตนอยู่นั้น ก็ได้ถูกกองกำลังของกลุ่มประเทศในกติกาสัญญาวอร์ซอ โดยการชี้นำของสหภาพโซเวียตบุกเข้ามาทำการปราบปราม และก็เคยได้มีความพยายามในทำนองเดียวกันที่จะสถาปนาการครองความเป็นใหญ่ หรือคงการครองความเป็นใหญ่นี้ต่อไปเมื่อปี ค.ศ. 1979 คือ ตอนที่จีนโจมตีเวียดนาม และสหภาพโซเวียตบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน ส่วนเมื่อปี ค.ศ. 1983 สหรัฐอเมริกาเองก็ได้บุกเกรนาดาอีกเช่นกัน

Diplomacy,Machiavellian

การทูตแบบแมเคียเวลลี

การดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของชาติด้วยการใช้ยุทธวิธีฉ้อฉล โกหก หลอกลวงต่าง ๆ โดยมีแรงกระตุ้นจากการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแต่ถ่ายเดียว ศัพท์ว่า “แมเคียเวลลี” นี้มาจากชื่อของ นิคโคโล แมเคียเวลลี (ค.ศ. 1469-1529) นักการทูตและนักปราชญ์ชาวเมืองฟลอเรนไทน์ประเทศอิตาลี ในหนังสืออันเลื่องชื่อของเขาชื่อ เดอะปรินซ์ แมเคียเวลลีได้พรรณนาและได้ประกาศถึงยุทธวิธีฉ้อฉลต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้ให้ได้มาและเพื่อกุมเอาไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง

ความสำคัญ เมื่อการดำเนินการทางการทูตไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนเสียแล้ว ก็ย่อมจะไม่มีข้อแตกต่างระหว่างความเฉลียวฉลาดกับความฉ้อฉลตามแบบที่แมเคียเวลลีสอนไว้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่า “ใครดีใครได้” การทูตจึงมีลักษณะอาศัยช่วงจังหวะและสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศเพื่อชิงความได้เปรียบกัน ยิ่งเสียกว่าจะได้อิงอาศัยคุณสมบัติการเป็นนักเจรจา หรืออิงอาศัยคุณลักษณะพิเศษของประเทศของนักการทูตผู้นั้น ในประวัติศาสตร์โลกช่วงเวลานี้ คุณสมบัติของนักการทูตจึงไม่ผิดอะไรกับคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ นักเทคนิค และนักเศรษฐศาสตร์ มีหลายรัฐได้ปฏิบัติการในทางลับ เพื่อส่งเสริมให้มีการบ่อนทำลาย ให้มีการปฏิวัติ และให้มีการรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นการกระทำที่มิได้ผิดแผกแตกต่างไปจากกโลบายฉ้อฉลในแบบที่แมเคียเวลลีว่าไว้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 มากนัก

Diplomacy, Parliamentary

การทูตแบบการประชุมรัฐสภา

การทูตแบบจัดการประชุมแบบหนึ่ง ที่เน้นให้หาข้อตกลงโดยอาศัยเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุมในสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ คำว่า “การทูตแบบการประชุมรัฐสภา” นี้ นายดีน รัสก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเป็นผู้ใช้เป็นคนแรก ได้เน้นให้มีการใช้กระบวนการทางการเมืองคล้ายๆ กันนี้ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ และในรัฐสภาของชาติต่าง ๆ การทูตแบบการประชุมรัฐสภานี้ ได้วางหลักไว้ให้มีการประชุมกันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค และระหว่างกลุ่มผลประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เหมือนอย่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติประชุมกันในรัฐสภา โดยจะมีการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้แทนของรัฐต่าง ๆ มีการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ระหว่างกัน และมีการอภิปรายถกแถลงกัน เป็นต้น

ความสำคัญ การทูตแบบการประชุมรัฐสภานี้ จะทำหน้าที่ดังนี้ คือ (1) ให้คำจำกัดความแก่ประเด็นต่าง ๆ (2) เรียกร้องความสนใจมาที่ประเด็นของปัญหานั้น (3) สร้างเอกภาพทางแนวความคิดให้เข้ารูปเข้ารอยเดียวกัน แต่การทูตแบบการประชุมรัฐสภานี้ จะยังไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาในระดับนานาชาติได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เพราะผู้เข้าร่วมประชุมเป็นเพียงตัวแทนทางการทูตของรัฐเอกราชซึ่งได้รับมอบหมายมาให้ทำหน้าที่เป็นผู้รับอำนาจมา โดยที่ไม่มีอิสระในการตัดสินใจได้โดยลำพัง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่า อำนาจตัดสินใจครั้งสุดท้ายยังอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐนั้น ๆ แม้ว่าเสียงข้างมากในที่ประชุมจะออกมาอย่างไร รัฐต่าง ๆ ก็ยังทรงอำนาจที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนในฐานะที่เป็นรัฐมีอำนาจอธิปไตยต่อไป แต่มติดังกล่าวก็อาจจะช่วยสร้างบรรยากาศที่จะเอื้ออำนวยให้การเจรจาต่าง ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี มติจากเสียงข้างมากที่ท่วมท้นนี้ แม้ว่าจะสามารถใช้เป็นกลยุทธ์ในการผลักดันได้ก็จริง แต่ก็อาจเป็นเหตุสร้างความเห็นที่ขัดแย้งและแตกความสามัคคี แทนที่จะเป็นการสร้างความปรองดองกัน

Diplomacy, Summit

การทูตแบบการประชุมระดับสุดยอด

การทูตในระดับส่วนบุคคล โดยประมุขรัฐหรือประมุขรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากการทูตในระดับเอกอัครราชทูตหรือระดับอัครราชทูต การทูตแบบการประชุมระดับสุดยอดนี้ เกิดขึ้นในยุคที่มีการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหลังจากนั้นมาก็ได้มีการประชุมกันแบบนี้อย่างประปราย แต่ได้มาเริ่มเฟื่องฟูใหม่อีกในช่วงที่เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต นอกจากนี้แล้ว ก็ได้มีการใช้ “การประชุมแบบสุดยอด” นี้ระหว่างผู้นำสหรัฐฯกับผู้นำชาติอื่น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนและปัญหาในตะวันออกกลาง

ความสำคัญ การทูตแบบการประชุมระดับสุดยอดนี้ ในฐานะที่เป็นกลไกสำหรับใช้ปฎิบัติการในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีกระบวนการที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และอาจจะสร้างความสำเร็จ หรือสร้างความล้มเหลวได้พอ ๆ กับกลไกทางการทูตแบบอื่น ๆ การทูตแบบการประชุมสุดยอดนี้ อาจใช้เพื่อทำการตกลงกันแบบกว้าง ๆ เท่านั้น ส่วนรายละเอียดข้อปลีกย่อยต่าง ๆ ก็ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ๆ ลงมาเป็นผู้ดำเนินการกัน นอกจากนี้แล้วก็ยังใช้เทคนิควิธีนี้เพื่อปรับปรุงบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างรัฐก็ได้ อย่างไรก็ดี ในบางกรณีหากผลีผลามรีบจัดการประชุมแบบนี้ขึ้นมา ก็อาจเกิดผลเสียตามมาก็ได้เหมือนกัน เพราะเมื่อประมุขรัฐเข้าร่วมเจรจากันแล้วนั้น ก็จะไม่มีสิทธิถ่วงเวลาให้เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ๆ พิจารณาเรื่องนั้น ๆ ได้อีก ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว คนที่เป็นประมุขรัฐนั้นที่เคยเป็นนักการทูตมีประสบการณ์มาก่อนจะหาได้น้อย การเจรจาระหว่างประมุขรัฐ หรือระหว่างประมุขรัฐบาลนี้ จึงอาจล้มเหลว เกิดความเครียด และมีอันตรายร้ายแรงตามมาได้ การทูตแบบการประชุมสุดยอดนี้จะมีปัญหาน้อย หากจัดเมื่อจะลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ในระดับล่าง ๆ ได้ดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว

Diplomatic Exchange : Agrement

การแลกเปลี่ยนทางการทูต : การตอบรับนักการทูต

การบ่งบอกออกมาเป็นทางการโดยประเทศหนึ่งว่า จะยอมรับนักการทูตที่จะถูกส่งไปประจำยังอีกประเทศหนึ่ง การตอบรับนักการทูตโดยรัฐผู้จะรับนี้ เป็นการตอบข้อซักถามที่ถามมาจากรัฐผู้จะส่ง ก่อนที่จะได้มีการกำหนดตัวนักการทูตให้พิจารณาเป็นทางการ ระเบียบปฏิบัติที่ทั้งสองรัฐนำมาใช้นี้เรียกว่า “การทาบทาม”

ความสำคัญ การตอบรับนักการทูต เป็นเครื่องมือทางการทูตที่มีประโยชน์ในทางสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ เนื่องจากว่าแต่ละรัฐสามารถปฏิเสธการยอมรับบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้ทั้งนั้น ดังนั้น การสอบถามเสียก่อนเป็นการล่วงหน้าว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นบุคคลพึงปรารถนา (คือยอมรับได้) หรือไม่นี้ ก็จะช่วยมิให้เกิดภาวะกระอักกระอ่วนใจให้แต่ละฝ่าย ตัวอย่างในแนวปฏิบัติของสหรัฐอเมริกานั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะส่งเรื่องขอการตอบรับนักการทูตนี้ไปที่ประมุขรัฐบาลต่างประเทศนั้นเสียก่อน ครั้นเมื่อได้รับการตอบรับนักการทูตนี้แล้ว ทางรัฐมนตรี ฯ ก็จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อประธานาธิบดี ต่อจากนั้นประธานาธิบดีก็จะได้เสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ เพื่อขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาอีกต่อหนึ่งก่อน

Diplomatic Exchange : Diplomatic Privileges and Immunities

การแลกเปลี่ยนทางการทูต : เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต

ข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่นักการทูตมิต้องตกอยู่ในบังคับของอำนาจศาลแพ่งและศาลอาญาของรัฐเจ้าถิ่นที่ตนไปประจำอยู่นั้น เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตนี้จะรวมไปถึงการมีอิสระจากการถูกจับกุม จากการถูกสอบสวน จากการเป็นผู้ต้องหาทางคดีแพ่ง จากการถูกหมายเรียกศาล และจากการถูกลงโทษตามกฎหมายท้องถิ่นนั้น นอกจากนี้แล้ว ที่พำนักอาศัย สำนักงาน และเอกสารของนักการทูต ก็จะได้รับการยกเว้น มิให้มีการบุกรุกเข้าไป มิให้ถูกตรวจค้น และถูกยึด เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ให้แก่นักการทูตนี้ ปกติแล้วจะอนุโลมให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตคนอื่น ๆ ตลอดจนครอบครัวของพวกเขาด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่กงสุลนั้น มิได้มีสถานภาพเป็นนักการทูต แต่เนื่องจากมีภาระหน้าที่สำคัญก็อาจจะมีกฏหมาย สนธิสัญญา และวิธีปฏิบัติกำหนดไว้เป็นพิเศษให้มีเอกสิทธิ์พิเศษแตกต่างไปจากชาวต่างประเทศอื่น ๆ ก็ได้ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของผู้แทนหรือนักการทูตต่างประเทศที่ไปประจำอยู่ในสหประชาชาติ ก็เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้กระทำไว้ระหว่างองค์การสหประชาชาติ กับสหรัฐอเมริกาประเทศเจ้าบ้าน

ความสำคัญ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตนี้เป็นข้อยกเว้นต่อข้อกำหนดทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่บอกไว้ว่า รัฐอธิปไตยแต่ละรัฐมีอำนาจสูงสุดภายในอาณาเขตของตนเอง และมีอำนาจศาลเหนือบุคคลทุกคน และเหนือสิ่งทุกสิ่งที่เข้าไปอยู่ในดินแดนของตนนั้น ซึ่งหากไม่มีข้อยกเว้นทางการทูตไว้เช่นนี้แล้ว รัฐบาลต่าง ๆ ก็จะถูกขัดขวาง มิให้ดำเนินงานทางด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของตนด้วยความราบรื่นได้ เนื่องจากว่าผู้แทนทางการทูตของตน ก็จะถูกขัดขวางมิให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของรัฐบาลฝ่ายเจ้าบ้านนั้นได้อย่างเต็มที่ หรือมิฉะนั้นก็อาจถูกขัดขวางมิให้เดินทางกลับประเทศหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจทางการทูตของตนแล้วก็ได้ แต่ถึงจะมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตอย่างไร เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ นักการทูตก็มีความรับผิดชอบที่จะต้องเคารพกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของรัฐผู้เป็นเจ้าบ้านนั้นด้วย เพราะหากพฤติกรรมของนักการทูตคนใดไม่เป็นที่ยอมรับเสียแล้ว รัฐบาลของนักการทูตผู้นั้นอาจจะถูกรัฐบาลฝ่ายเจ้าบ้านขอร้องให้เรียกนักการทูตผู้นั้นกลับประเทศเสียก็ได้ หรือไม่ก็ยกเลิกการให้ความคุ้มกันทางการทูตนั้นเสียก็ได้ ซึ่งก็ส่งผลให้นักการทูตผู้นั้นต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการทางแพ่งและทางอาญาเหมือนบุคคลธรรมดา นอกจากนั้นแล้ว รัฐเจ้าบ้านอาจจะประกาศให้นักการทูตผู้หนึ่งผู้ใด เป็นบุคคลมิพึงปรารถนา แล้วขับนักการทูตผู้นั้นออกไปจากประเทศตนเสียก็ได้ อย่างไรก็ดี การปฏิบัติต่อนักการทูตในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร ก็อาจจะนำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศก็ได้ ดังเช่นกรณีวิกฤติการณ์จับตัวประกันที่เกิดขึ้นระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ.1979-1981

Diplomatic Exchange : Exequatur

การแลกเปลี่ยนทางการทูต : อนุมัติบัตร (ให้ปฏิบัติหน้าที่กงสุล)

การกระทำอันเป็นทางการ ที่รัฐผู้รับให้การรับรองสถานภาพทางการของกงสุลที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ และให้มีอำนาจสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะที่ควรในสถานกงสุลนั้นได้ สำหรับในประเทศที่มิได้ออกอนุมัติบัตร (ให้ปฏิบัติหน้าที่กงสุล) เป็นทางการ หรือเอกสารในลักษณะเดียวกันนี้ กงสุลจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ เมื่อรัฐบาลฝ่ายรับนั้นได้ลงประกาศสถานภาพกงสุลของบุคคลนั้น ๆ ในราชกิจจานุเบกษา หรือในเอกสารทางราชการในทำนองเดียวกันนั้น

ความสำคัญ รัฐต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกบังคับโดยกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าจะต้องรับกงสุลต่างประเทศ แต่ก็จะต้องออกอนุมัติบัตร (ให้ปฎิบัติหน้าที่กงสุล) นี้ เป็นการให้อำนาจแก่กงสุลได้ใช้อำนาจศาลภายในดินแดนของรัฐผู้รับนั้นได้ พร้อมกับให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทุกอย่างแก่กงสุลตามประเพณีนิยม การเพิกถอนอนุมัติบัตร (ให้ปฎิบัติหน้าที่กงสุล) โดยรัฐบาลผู้รับ ก็จะทำให้ภารกิจทางกงสุลที่ได้รับมอบหมายมาของบุคคลผู้นั้นสิ้นสุดลง

Diplomatic Exchange : Letter of Credence

การแลกเปลี่ยนทางการทูต : อักษรสาสน์ตราตั้ง

เอกสารทางการที่ประมุขรัฐฝ่ายผู้ส่ง ทำการแนะนำตัวผู้แทนทางการทูตของตนต่อประมุขรัฐฝ่ายผู้รับ อักษรสาสน์ตราตั้งนี้ จะบอกถึงลักษณะความเป็นตัวแทนของนักการทูตผู้นั้น มีข้อความแสดงออกถึงความมั่นใจในความสามารถของนักการทูต มีการระบุถึงภารกิจตลอดจนอำนาจของนักการทูต และก็จะมีข้อความเรียกร้องให้ประมุขฝ่ายผู้รับ ได้ให้ความไว้วางใจอย่างเต็มที่ว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่นักการทูตจะปฏิบัตินั้น เป็นการปฏิบัติในฐานะเป็นผู้แทนของรัฐบาลฝ่ายผู้ส่งอย่างแท้จริง อักษรสาสน์ตราตั้งนี้ ปกติแล้วตัวนักการทูตจะนำไปยื่นอย่างเป็นทางการด้วยตนเองต่อประมุขของรัฐฝ่ายผู้รับ

ความสำคัญ อักษรสาสน์ตราตั้ง จะให้การรับรองในความน่าเชื่อถือของนักการทูต ในอักษรสาสน์ตราตั้งนั้น ประเทศฝ่ายผู้ส่งจะระบุถึงความปรารถนาของฝ่ายตนไปว่าต้องการมีความสัมพันธ์ขั้นปกติระหว่างสองรัฐ การรับอักษรสาสน์ตราตั้งโดยประมุขรัฐฝ่ายผู้รับแสดงว่า นักการทูตผู้นั้นได้รับความไว้วางใจให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้แล้ว

Diplomatic Exchange : Persona Grata

การแลกเปลี่ยนทางการทูต : บุคคลที่พึงปรารถนา

การแสดงออกมาให้เห็นว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะได้รับการยอมรับ หรือจะยังคงได้รับการยอมรับต่อไป ว่าเป็นผู้แทนทางการของรัฐต่างประเทศ จากแนวความคิดเรื่องบุคคลที่พึงปรารถนานี้แสดงว่า รัฐหนึ่งรัฐใดอาจจะประกาศว่า ผู้แทนทางการทูตผู้ใดผู้หนึ่งของรัฐอื่น เป็นบุคคลที่ไม่สามารถยอมรับได้ (บุคคลที่มิพึงปรารถนา)

ความสำคัญ อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาลที่จะตัดสินใจว่า นักการทูตผู้นั้นผู้นี้เป็นบุคคลที่พึงปรารถนาหรือไม่นั้น จะมีการใช้กันในช่วงแรกที่จะได้มีการแต่งตั้ง ซึ่งช่วงนั้นจะมีการใช้กระบวนการ “การทาบทาม” จะทำให้ฝ่ายผู้รับสามารถแสดงออกถึงความต้องการหรือไม่ต้องการที่จะรับผู้แทนทางการทูตคนนั้นคนนี้ได้ หลังจากที่นักการทูตได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่พึงปรารถนาแล้ว เขาก็อาจจะถูกประกาศว่า เป็นบุคคลที่มิพึงปรารถนาได้ หากไปละเมิดกฎหมายของรัฐผู้เป็นเจ้าบ้าน กฎหมายระหว่างประเทศ หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการทูตที่สมควรปฏิบัติ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมา รัฐฝ่ายผู้รับก็อาจจะเรียกร้องให้รัฐฝ่ายผู้ส่ง เรียกตัวนักการทูตของตนกลับประเทศ หรือที่รุนแรงยิ่งกว่านั้น ก็อาจถึงกับขับนักการทูตผู้นั้นออกจากประเทศของตนไปเลยก็ได้

Diplomatic Personnel : Attache

บุคคลทางการทูต : ผู้ช่วยทูต

ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านใดด้านหนึ่ง ที่ได้รับมอบหมายให้มีภารกิจทางการทูตไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนและผู้รายงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนเชี่ยวชาญนั้น ผู้ช่วยทูตเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คือ ด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ การเกษตร การข่าว แรงงาน การบินพลเรือน การปิโตรเลียม และวัฒนธรรม ผู้ช่วยทูตเหล่านี้ บางรายเป็นผู้ที่กระทรวงการต่างประเทศคัดเลือกว่าจ้างให้มาทำงานให้ ส่วนบางรายนั้นก็อาจเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ที่ส่งไปทำหน้าที่ทางการทูต

ความสำคัญ บรรดาข้อมูลและการวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่ได้มาโดยผ่านทางผู้ชำนาญการทางเทคนิคในแต่ละสาขาเหล่านี้ ก็เป็นส่วนสำคัญของวัตถุดิบที่ทางรัฐบาลจะได้นำไปใช้ในการวางนโยบายต่างประเทศ การใช้ผู้ชำนาญการทางเทคนิคเฉพาะด้านให้มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทูตนี้ เป็นเรื่องที่แหวกประเพณีเดิมทางการทูต ซึ่งนิยมใช้ผู้มีความรู้แบบกว้าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้รู้เรื่องทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแบบกว้าง ๆ เท่านั้นก็พอ เพื่อให้มาทำหน้าที่เป็นนักการทูต แต่เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็จึงมีความจำเป็นต้องใช้ผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น และจากการที่มีการนิยมใช้ผู้ช่วยทูตซึ่งมีความชำนาญเฉพาะด้านนี่เองจึงมักเกิดปัญหาขึ้นมา คือไม่สามารถแยกแยะได้ว่า การรวบรวมข้อมูลแบบใดเป็นเรื่องของการรวบรวมข้อมูลปกติ หรือแบบไหนเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อการจารกรรม ดังนั้นจึงมีผู้ช่วยทูตหลายต่อหลายคน ถูกกล่าวหาว่ากระทำจารกรรม และถูกประเทศเจ้าบ้านขับออกนอกประเทศ ซึ่งหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมา สิ่งที่ติดตามมาก็คือ ประเทศผู้ส่งผู้ช่วยทูตคนนั้น ก็จะทำการตอบโต้ด้วยการขับผู้ช่วยทูตในสาขาเดียวกันของประเทศผู้รับนั้น ออกนอกประเทศของตนเช่นเดียวกัน

Diplomatic Personnel : Consul

บุคคลทางการทูต : กงสุล

ตัวแทนของรัฐที่ถูกส่งไปประจำอยู่ ณ ดินแดนต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางการค้า และการอุตสาหกรรมของรัฐ ตลอดจนให้การคุ้มครองแก่บุคคลในสัญชาติตนที่เข้าไปพำนักอยู่ หรือที่เดินทางท่องเที่ยวเข้าไปยังรัฐที่สอง เจ้าหน้าที่กงสุลมิได้มีสถานภาพเป็นนักการทูตโดยตรง แต่ก็อาจจะมีกฎหมาย สนธิสัญญา และทางปฏิบัติให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่แตกต่างไปจากชาวต่างชาติอื่น ๆ หน้าที่ของกงสุล ก็คือ การให้บริการด้านการขนส่งสินค้าและการเดินเรือ การให้ความเป็นพลเมือง การออกหนังสือเดินทาง และการตรวจลงตรา การให้ความคุ้มครองบุคคลในชาติตน ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา และการเปิดตลาดการค้าแห่งใหม่ สถานกงสุลอาจจะจัดตั้งขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ ในรัฐอื่นมากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้ ส่วนจะเลือกเมืองใดเป็นที่ตั้งสถานกงสุลนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการติดต่อทางธุรกิจระหว่างกันเป็นหลัก

ความสำคัญ งานของกงสุลจะมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับงานที่ทำอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ และในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ก็มิได้บังคับให้ประเทศใด ๆ ต้องอนุญาตให้กงสุลต่างประเทศเข้าไปประจำอยู่ในดินแดนภายใต้อำนาจศาลของตน สำหรับบทบาทของกงสุลนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกันในระดับทวิภาคี แต่ก็อาจมีการกำหนดไว้ในมาตราใดมาตราหนึ่งของสนธิสัญญาทางกงสุล หรือสนธิสัญญาทางการพาณิชย์ระหว่างกัน ซึ่งระบุการให้สิทธิพิเศษชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งแก่กงสุล ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติแบบมีอคติต่อกัน เมื่อมีการแลกเปลี่ยนการกงสุลระหว่างกันแล้ว ก็จะมีกิจการการค้า การท่องเที่ยว การพาณิชย์ และการขนส่งสินค้าทางเรือ ระหว่างประเทศติดตามมา

Diplomatic Personnel : Diplomat

บุคคลทางการทูต : นักการทูต

ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากประมุขรัฐให้ไปทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชื่อเรียกและตำแหน่งของนักการทูต ที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลง คองเกรสออฟเวียนนา (ปี ค.ศ.1815) และข้อตกลงแอซ์-ลา-ชาแปลล์ (ปี ค.ศ.1818) มีการจัดไว้หลดหลั่นตามลำดับดังนี้ (1) เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม และเอกอัครสมณทูตแห่งวาติกัน (2) อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม และอัครสมณทูตแห่งวาติกัน (3) ราชทูต และ (4) อุปทูต และอุปทูตผู้รักษาการ แม้ว่าตำแหน่งเอกอัครราชทูตจะเป็นตำแหน่งสูงสุด แต่นักการทูตที่มีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต และที่มีตำแหน่งเป็นอัครราชทูตนั้น ต่างก็อาจทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะของตนที่ไปประจำอยู่ ณ ต่างประเทศ และก็สามารถได้รับมอบอำนาจจากประมุขรัฐตนให้ไปประจำอยู่ ณ ต่างประเทศ เพื่อรับผิดชอบในการควบคุมบังคับบัญชาคณะเจ้าหน้าที่ ณ สถานทูตของตนได้เหมือน ๆ กัน ในอดีตสถานที่ซึ่งคณะทูตไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ต่างประเทศ จะเรียกว่า “สถานเอกอัครราชทูต” เมื่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดมีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต และจะเรียกว่า “สถานอัครราชทูต” เมื่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดมีตำแหน่งเป็นอัครราชทูต แต่ภารกิจทางการทูตทุกอย่างในปัจจุบันจะทำโดยสถานเอกอัครราชทูตโดยมีเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าทั้งสิ้น ส่วนอุปทูตนั้นหมายถึง ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นนักการทูตไปทำหน้าที่ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งตัว เอกอัครราชทูต หรืออัครราชทูตไปประจำ หรือให้ไปทำหน้าที่ตอนที่หัวหน้าคณะทูตถูกเรียกตัวกลับประเทศก็ได้ สำหรับเจ้าหน้าที่อาวุโสทางการทูต ซึ่งรับผิดชอบในสถานทูตเป็นการชั่วคราว ในกรณีที่เอกอัครราชทูตหรืออัครราชทูตไม่อยู่ หรือเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือถึงแก่อสัญกรรม จะเรียกกันว่า อุปทูตผู้ทำการแทน ส่วนแนวปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เขาจะใช้คำว่า “ผู้แทนทางการทูต” สำหรับผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศให้ไปประจำ ณ รัฐต่างประเทศที่มีฐานะยังเป็นเมืองขึ้นของรัฐอื่นอยู่ นักการทูตมีอันดับอาวุโสลดหลั่นกันตามลำดับวันที่ตนเดินทางไปถึงเมืองหลวงของรัฐนั้น ๆ เอกอัครราชทูตที่มีอาวุโสสูงสุด เรียกว่า คณบดีทูต ประจำเมืองหลวงแห่งนั้น ๆ และบุคคลผู้นี้จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนของคณะทูตานุทูต ในเวลาจะติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศของรัฐนั้น ๆ

ความสำคัญ นักการทูตเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างสองรัฐบาล เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกันมากมายหลายเรื่องด้วยกัน นักการทูตจะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนประเทศของตน ด้วยการคอยสอดส่องดูแลแล้วเสนอรายงานกลับประเทศตนในเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศตนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในเวลาติดต่อสัมพันธ์กับประเทศเจ้าบ้านที่ตนไปประจำอยู่ ในเวลาเดียวกัน เวลาจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร ก็ต้องคอยคำนึงอยู่เสมอว่าตนเป็นตัวอย่างของประชาชนทั้งประเทศ นักการทูตต้องทำตัวให้เป็นบุคคลที่พึงปรารถนา คือให้เป็นที่ยอมรับของประเทศเจ้าบ้าน และในขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องและขยายผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนของตนไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ดี หน้าที่ขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของนักการทูต ก็คือ การดำเนินการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางประนีประนอมและบรรลุถึงข้อตกลงให้ได้

Diplomatic Tool : Appeasement

เครื่องมือทางการทูต : การยอมสละเพื่อสันติ

การยอมเสียสละผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งตอบแทนเพียงน้อยนิด หรือเป็นการจำยอมเสียสละประโยชน์โดยที่มิได้รับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการตอบแทน ข้อตกลงแบบนี้ อาจจะเป็นผลมาจากความอ่อนแอ หรือจากความสับสนว่าอะไรคือผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และอะไรคือผลประโยชน์ที่สำคัญรองลงมา ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ ก็คือ การยอมสละเพื่อสันติในที่ประชุมมิวนิคเมื่อปี ค.ศ. 1938 ซึ่งคราวนั้นนายกรัฐมนตรี เนวิลล์ แชมเบอร์เลน แห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี เอดูอาร์ด ดาลาดีเยร์ แห่งฝรั่งเศส ได้ยอมรับข้อเรียกร้องของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ให้ดินแดนสุเดเตนแลนด์ ในเชโกสโลวะเกีย เป็นของเยอรมนี เพื่อแลกเปลี่ยนกับคำมั่นสัญญาแบบลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะทำให้เกิดสันติภาพ

ความสำคัญ เมื่อมีการยอมผ่อนปรนให้แก่นักการทูตฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้นเมื่อใด การยอมสละเพื่อสันตินั้นจะถูกกล่าวหาว่าเป็นความอัปยศทางการทูต จากการที่ได้มีการพัฒนาเทคนิคการสื่อสารสมัยใหม่ขึ้นมา จากการที่ประชาชนคอยจับตามองนักการทูตอยู่ตลอดเวลา และจากการที่มีแนวความคิดในเรื่อง “การทูตแบบเปิดเผย” เกิดขึ้น เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้การเจรจาแบบการทูตแท้ ๆ กระทำได้โดยยาก สาธารณชนทั่วไปมักจะไม่เข้าใจว่า การเจรจากันนั้นเป็นเรื่องของการแสวงหาข้อตกลง โดยผ่านทางการอะลุ่มอล่วย ด้วยเหตุนี้ก็จะพากันมองไปว่า การอะลุ่มอล่วยกันนี้เป็นการยอมสละเพื่อสันตินี้ไปก็ได้ การเจรจากันหากถูกมองไปว่าเป็นเทคนิคเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ชัยชนะทางการทูต” แล้ว มันก็จะไปจำกัดโอกาสในการเจรจาของนักการทูตได้ ทั้งอาจจะไปขัดขวางการพัฒนาสังคมโลกให้มีเสถียรภาพ ซึ่งมีรากฐานมาจากการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยผ่านทางการตกลงร่วมกัน

Diplomatic Tool : Comity

เครื่องมือทางการทูต : ไมตรีจิตระหว่างประเทศ

ความเอื้อเฟื้อที่รัฐหนึ่งมีต่ออีกรัฐหนึ่ง ไมตรีจิตนี้มีรากฐานมาจากแนวความคิดเรื่องความเสมอภาคของรัฐต่าง ๆ และมักเป็นเรื่องของการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แนวความคิดเรื่องไมตรีจิตระหว่างประเทศนี้ได้เกิดขึ้นในยุคที่การปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังเฟื่องฟูอยู่ ซึ่งตอนนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ระหว่างองค์อธิปัตย์ กับผู้แทนของพระองค์

ความสำคัญ แนวปฏิบัติซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของความมีไมตรีจิตระหว่างประเทศนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและธำรงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศต่าง ๆ ไมตรีจิตที่ว่านี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ เช่น (1) การส่งผู้ร้ายข้ามแดน (2) การที่ศาลต่างชาติยินยอมให้ศาลท้องถิ่นตัดสินลงโทษคนในบังคับของตน (3) การที่รัฐหนึ่งส่งคดีที่ได้มีการกระทำผิดในรัฐตนไปฟ้องร้องในศาลของอีกรัฐหนึ่ง (4) การให้ความคุ้มกันทางการทูต เช่น ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจศาลท้องถิ่นที่นักการทูตไปประจำอยู่ เป็นต้น จารีตประเพณีที่มีรากฐานมาจากไมตรีจิตต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น

Diplomatic Tool : Detente

เครื่องมือทางการทูต : การผ่อนคลายความตึงเครียด

เป็นศัพท์ทางการทูต หมายถึง สถานการณ์ที่ความหมางเมินหรือความตึงเครียดได้ลดลง ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศหรือมากกว่านั้น ห้วงเวลาที่มีการผ่อนคลายความตึงเครียดนี้ อาจจะเป็นผลมาจากการตกลงกันโดยมีการลงนามสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ หรืออาจจะวิวัฒนาการจากการเปลี่ยนแปลงในทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีแห่งชาติโดยใช้เวลาหลายปีก็ได้

ความสำคัญ แนวความคิดเรื่องการผ่อนคลายความตึงเครียดนี้ หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่ได้รับการปรับปรุง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการคลี่คลายข้อขัดแย้งขั้นพื้นฐานระหว่างรัฐต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น สนธิสัญญาโลคาร์โนปี ค.ศ. 1925 มีขึ้นในยุคที่เกิดเสถียรภาพในทวีปยุโรป ซึ่งก็ได้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบการรักษาความมั่นคงของสันนิบาตชาติ ต่อมาก็ได้มีการลงนามในสัญญาอีกหลายฉบับ เช่น เยเนอรัล แอคต์ (ค.ศ. 1928), เคลลอคค์ - บริอังค์ แพคต์ ออฟ ปารีส (ค.ศ. 1928) ในทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต อันมีรากฐานมาจากแนวความคิดต้องการอยู่ร่วมกันโดยสันตินั้น ได้เริ่มต้นมาจากวิวัฒนาการที่ทั้งสองฝ่ายเกิดความตระหนักถึงความพินาศย่อยยับที่จะบังเกิดขึ้น และก็มีผลสืบเนื่องมาจากลัทธิชาตินิยมที่ขยายตัวมากขึ้นในหมู่พันธมิตรของแต่ละค่าย มิใช่เป็นผลมาจากการลงนามในสนธิสัญญาสำคัญ ๆ อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายความตึงเครียดในครั้งนี้ มีอันถูกทำลายลงไป เมื่อสหภาพโซเวียตใช้กำลังทหารรุกรานอัฟกานิสถานในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1979 เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจตัดสินใจของแต่ละรัฐจะใช้ดุลพินิจด้วยตนเองว่า ควรจะใช้รูปแบบทางการทูตแบบผ่อนปรนหรือแบบเผชิญหน้า จึงจะสามารถธำรงผลประโยชน์ของชาติตน ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งได้

Diplomatic Tool : Negotiation

เครื่องมือทางการทูต : การเจรจา

เทคนิคทางการทูต ที่นำมาใช้เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยสันติ และเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์แห่งชาติ จุดมุ่งหมายของการเจรจากันจะบรรลุถึงได้ ก็โดยการประนีประนอมและการผ่อนปรนกัน โดยผ่านทางการติดต่อเจรจาระหว่างบุคคลโดยตรง

ความสำคัญ ลักษณะสำคัญของการเจรจา มักจะเป็นเรื่องที่สาธารณชนทั่วไปเข้าใจผิดกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งสำคัญ ๆ แล้วเผอิญว่านักการทูตฝ่ายตนจำเป็นต้องยอมผ่อนปรนให้แก่นักการทูตของฝ่ายตรงข้ามเข้า ก็จะถือว่าเป็นความอัปยศทางการทูต ความจริงแล้วการบรรลุข้อตกลงโดยผ่านการเจรานั้น เป็นเรื่องความปรารถนาของทั้งสองฝ่ายที่จะผ่อนปรนกันในเรื่องที่แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับได้ (มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน) การยื่นคำขาด การพูดจาก้าวร้าวคุกคาม การบอยคอตสินค้า การเดินผละออกจากที่ประชุม และการคุกคามด้วยกำลังทหาร อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการทูต ในความหมายกว้าง ๆ แต่มิใช่เรื่องของการเจรจากันโดยตรง อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวที่ว่าข้างต้น มักจะมาเกี่ยวข้องกับการเจรจา และก็จะส่งผลให้การเจรจาประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวในขั้นสุดท้ายได้ ผลประโยชน์ระดับรอง ๆ ผู้เจรจาอาจต้องยอมเสียสละ เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจากันก็ได้ แต่สำหรับผลประโยชน์อันดับแรก หรือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนั้น ยากนักที่จะนำมาต่อรองกันให้สำเร็จได้ ผู้ที่มีทักษะในการเจรจานั้นเวลาเจรจากันจะสามารถบรรลุถึงข้อตกลงกันได้ โดยที่ให้ฝ่ายตนเสียผลประโยชน์น้อยที่สุด (และในขณะเดียวกันก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความพึงพอใจ) เพื่อจะได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในอนาคต

Diplomatic Tool : Rapprochement

เครื่องมือทางการทูต : การฟื้นสัมพันธไมตรี

การประนีประนอมผลประโยชน์ของรัฐที่เป็นปฏิปักษ์กัน ภายหลังจากยุคที่หมางเมินกัน การฟื้นสัมพันธไมตรีนี้ ในแง่ของการทูต หมายถึง นโยบายที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ขั้นปกติระหว่างกัน

ความสำคัญ การฟื้นสัมพันธไมตรี เป็นศัพท์ทางการทูตแบบพื้น ๆ มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส หมายถึง การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การฟื้นสัมพันธไมตรีระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้การแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันอย่างรุนแรงซึ่งเป็นมายาวนานนับศตวรรษยุติลงได้

Diplomatic Tool : Treaty

เครื่องมือทางการทูต : สนธิสัญญา

ข้อตกลงหรือข้อผูกพันอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐอธิปไตย ซึ่งจะมีการกำหนดให้มีการนิยามความหมายหรือมีการแก้ไขดัดแปลงในเรื่องสิทธิและพันธกรณีระหว่างกัน สนธิสัญญาต่าง ๆ ถือว่าเป็นกฎหมายระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง แต่ในบางประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกานั้น ถือว่าเป็นกฎหมายภายในด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วย “กฎหมายสูงสุดแห่งดินแดน” ในมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา สนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษ อย่างเช่น act, aide memoise, charter, covenant, convention, entente, modus vivendi, protocal จะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า สันติภาพ สละดินแดน พันธมิตร มิตรภาพ การพาณิชย์ และเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะเกี่ยวพันระหว่างประเทศ

ความสำคัญ หลักที่ว่า “สัญญาควรได้รับการเคารพปฏิบัติ” ของสนธิสัญญานี้ มิได้ขึ้นอยู่กับชื่อของข้อตกลงระหว่างประเทศแต่อย่างใด สนธิสัญญาอาจมีลักษณะเป็นแบบพหุภาคี หรือแบบทวิภาคี อาจมีการระบุห้วงเวลาที่ใช้บังคับไว้เป็นการแน่นอน หรือมิได้กำหนดห้วงเวลาไว้เป็นการแน่นอน ในเวลาที่ทำสนธิสัญญากันนั้น ก็จะผ่านกระบวนการดังนี้ คือ การเจรจา การลงนาม การให้สัตยาบัน การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร การประกาศแจ้งความ และการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ สำหรับการให้สัตยาบันสนธิสัญญานั้น เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร คือ เป็นการที่รัฐผู้เป็นคู่สัญญายอมรับบทบัญญัติต่าง ๆ ของข้อตกลงนั้น ๆ เป็นกระบวนการที่รัฐผู้ลงนามในสนธิสัญญาจะดำเนินการโดยสอดคล้องกับกระบวนการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของตนนั้น ข้อผูกพันระหว่างประเทศอาจสิ้นสุดลงได้ในหลายกรณีด้วยกัน เช่น เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะนั้น ๆ ได้รับการปฏิบัติตามเรียบร้อยแล้ว ห้วงเวลาที่ระบุไว้ในข้อตกลงสิ้นสุดลง ทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจที่จะให้มีการยกเลิกสนธิสัญญา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประกาศเลิกใช้สนธิสัญญาเมื่อเกิดสงครามระหว่างกัน เป็นต้น หรือกรณีที่เงื่อนไขสำคัญในข้อตกลงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว (หลักที่ว่าสัญญายังคงมีผลตราบเท่าที่สถานการณ์ยังคงเดิม) ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ถูกควบคุมโดยสนธิสัญญาแบบพหุภาคีในหลาย ๆ เรื่องมากกว่าแต่ก่อน ยกตัวอย่างเช่น กฎบัตรสหประชาชาติ สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ กติกาสัญญาวอร์ซอ สนธิสัญญากรุงโรมว่าด้วยบูรณาการยุโรป สนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์ และสนธิสัญญาเกี่ยวกับอวกาศ เป็นต้น

Diplomatic Tool : Treaty Ratification

เครื่องมือทางการทูต : การให้สัตยาบัน

การที่รัฐดำเนินการให้คำยืนยัน และให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการต่อบทบัญญัติของสนธิสัญญา ปกติแล้วการให้สัตยาบัน เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารของรัฐที่ได้ลงนามในสนธิสัญญา จะเป็นผู้ดำเนินการโดยให้สอดคล้องกับกระบวนการที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของฝ่ายตน โดยทั่ว ๆ ไปนั้นการให้สัตยาบันจะต้องผ่านการเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอาจจะเป็นสภาเดียวหรือสองสภา ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อย่างไร ในบางประเทศฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้ามามีส่วนในการให้สัตยาบันในช่วงหลังจากที่ได้กระทำสนธิสัญญากันเรียบร้อยไปแล้ว แต่ในบางประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา การให้สัตยาบันเป็นขั้นตอนสำคัญยิ่งในกระบวนการทำสนธิสัญญาเลยทีเดียว

ความสำคัญ ตามแนวปฏิบัติระหว่างประเทศนั้น สนธิสัญญาทั้งหลายจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารต่อกัน ในกรณีที่เป็นสนธิสัญญาแบบทวิภาคี แต่ถ้าหากเป็นกรณีของสนธิสัญญาแบบพหุภาคี สนธิสัญญาจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อมีการขึ้นทะเบียนสนธิสัญญากับรัฐบาลของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือองค์การใดองค์การหนึ่งตามที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญานั้นแล้ว หากเป็นแบบกรณีหลังนี้ก็อาจจะมีข้อกำหนดไว้ด้วยว่า สนธิสัญญาจะมีผลบังคับต่อเมื่อมีการขึ้นทะเบียนสัตยาบันสารของรัฐนั้นรัฐนี้แล้ว หรือเมื่อได้รับสัตยาบันสารของรัฐต่าง ๆ จำนวนเท่านั้นเท่านี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในมาตรา 110 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และมาตรา 11 แห่งสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ

Diplomatic Tool : Ultimatum

เครื่องมือทางการทูต : คำขาด

การติดต่อสื่อสารเป็นทางการครั้งสุดท้ายจากรัฐบาลหนึ่งไปยังอีกรัฐบาลหนึ่ง เพื่อแจ้งให้รัฐบาลฝ่ายผู้รับคำขาดยินยอมกระทำการอย่างนั้นอย่างนี้ตามความปรารถนาของรัฐบาลผู้ยื่นคำขาด มิฉะนั้นแล้วรัฐบาลผู้รับคำขาดก็ต้องเตรียมการเพื่อเผชิญกับผลของการปฏิเสธที่จะติดตามมา ซึ่งในขั้นสุดท้ายนั้นก็คือการทำสงครามกันนั่นเอง เมื่อมีการยื่นคำขาดเช่นนี้ก็แปลความได้ว่า กระบวนการทางการทูตจะดำเนินต่อไปอีกเพียงก้าวเดียวก็จะถึงการล้มเหลวแล้ว และว่ารัฐอธิปไตยรัฐหนึ่งกำลังคิดจะเสี่ยงภัยใช้กำลังทหารหากจำเป็น เพื่อบีบบังคับอีกรัฐหนึ่งให้ปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายตน

ความสำคัญ การยื่นคำขาดนี้ไม่ว่าจะยื่นเพื่อการข่มขู่ หรือเพื่อจะเอาจริงอย่างไร ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าวิกฤติการณ์ร้ายแรงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นการบ่งบอกด้วยว่า รัฐคู่กรณีฝ่ายหนึ่งได้ตัดสินใจที่จะเลิกล้มการเจรจา และกำลังจะหันไปใช้วิธีการอย่างอื่น เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของฝ่ายตน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ. 1914 เยอรมนีได้ยื่นคำขาดต่อเบลเยียม ให้อนุญาตทหารเยอรมันเดินทัพผ่านดินแดนเข้าไปโจมตีฝรั่งเศส มิฉะนั้นแล้วฝ่ายเยอรมนีจะถือว่าเบลเยียมเป็นศัตรู ทั้งสันนิบาตชาติและสหประชาชาติต่างก็ถูกออกแบบมาให้เป็นสถานที่ประชุมและจัดหาเทคนิควิธีต่าง ๆ ที่จะนำมาช่วยแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกินขีดความสามารถของการทูตในระดับทวิภาคีจะแก้ไขได้แล้ว ทั้งนี้เพื่อมิให้มีการยื่นคำขาดต่อกันนั่นเอง

Peaceful (Pacific) Settlement

การระงับข้อพิพาทโดยสันติ

การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยปราศจากการใช้กำลัง การระงับข้อพิพาทโดยสันตินี้ เป็นเทคนิควิธีในเชิงปฏิบัติการที่จะช่วยให้ความขัดแย้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่สำคัญ ๆ ของรัฐต่าง ๆ สามารถระงับลงได้ เทคนิควิธีที่จะนำมาใช้เพื่อการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติมี 2 ประเภท คือ (1) วิธีการทางกฎหมาย หมายถึง การใช้กฎหมายระหว่างประเทศมาสอบสวนหาข้อเท็จจริงของข้อพิพาทนั้น และ (2) วิธีการทางการเมือง หมายถึง การใช้กระบวนการทางการทูต วิธีการแก้ไขกรณีพิพาทโดยทางกฎหมาย ก็คือ วิธีอนุญาโตตุลาการ และวิธีให้ศาลวินิจฉัย ส่วนเทคนิควิธีทางการเมืองนั้น ก็คือ การเจรจาทางการทูต การช่วยเป็นสื่อกลาง การไกล่เกลี่ย การสืบสวน และการประนอม

ความสำคัญ เนื่องจากว่าปัจจุบันนี้สงครามมีผลทางการทำลายล้างมากยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก และพร้อมกันนั้นมันก็จะสร้างความหายนะอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมและเศรษฐกิจของรัฐ ดังนั้นจึงได้มีความพยายามที่จะหาหนทางอื่นเป็นพันธกรณีให้รัฐต่าง ๆ ยอมรับเอาไว้ใช้ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ในการประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกปี ค.ศ. 1899 และปี ค.ศ. 1907 ได้ก่อให้เกิดความพยายามในระดับพหุภาคีครั้งสำคัญ ที่จะให้มีการวางรูปแบบของกรรมวิธีแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากนั้นมาก็ได้มีความพยายามสร้างรูปแบบกรรมวิธีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาในสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น ในกติกาสันนิบาตชาติ ในข้อบังคับศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ ในข้อตกลงกรุงเจนีวาปี ค.ศ. 1928 ในกติกาสัญญาเคลลอกก์ - บริอังด์ (สนธิสัญญาประณามสงครามปี ค.ศ. 1928) และในกฎบัตรสหประชาชาติ พัฒนาการในด้านการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันตินี้ ได้มีการนำมาตรการอื่น ๆ เข้ามาเสริมด้วย คือ การลดกำลังรบ การจัดกิจกรรมองค์การระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น หากไม่ใช้การระงับข้อพิพาทโดยสันติเป็นทางเลือกแล้ว ก็จะนำไปสู่สงครามจำกัด หรือดีไม่ดีอาจจะถึงขั้นวินาศย่อยยับเพราะสงครามเทอร์โมนิวเคลียร์ไปเลยก็ได้

Peaceful Settlement : Conciliation

การระงับข้อพิพาทโดยสันติ : การประนอม

วิธีดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยสันติอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่มีผู้แทนของกลุ่มรัฐต่าง ๆ มาทำการค้นหาข้อเท็จจริงที่เกิดข้อพิพาทกันอยู่นั้น แล้วใช้ข้อเท็จจริงนั้นเป็นรากฐานในการเสนอแนะทางแก้ปัญหาแก่คู่กรณี การประนอมนี้ซึ่งมักจะโยงใยไปถึงการสืบสวนข้อเท็จจริงด้วยนั้น จึงอาจถูกมองว่าเป็นการให้กลุ่มประเทศเข้ามาช่วยประนอม คือ อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นมาทำหน้าที่เฉพาะกิจ และบทบัญญัติเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยสันตินี้มีปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาหลายต่อหลายฉบับทั้งที่เป็นแบบทวิภาคีและแบบพหุภาคี ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติในกติกาสัญญาโบโกตาขององค์การรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา (ค.ศ. 1948) และในสนธิสัญญาบรัสเซลส์ ซึ่งลงนามในปี ค.ศ. 1948 เช่นเดียวกัน โดยเบลเยียม บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์

ความสำคัญ การประนอมในฐานะที่เป็นเครื่องมือการระงับข้อพิพาทโดยสันตินี้ มีลักษณะที่เป็นข้อดีอยู่หลายประการ ทั้งนี้ก็รวมทั้งเป็นวิธีการที่มีระบบแบบแผนดีเป็นแบบกึ่งทางกฎหมาย ส่วนการเสนอแนะของคณะกรรมการการประนอมก็มีน้ำหนักดี เพราะเป็นมติของกลุ่มรัฐ ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาตินั้น คณะมนตรีความมั่นคงสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นมาได้ หรืออาจเรียกร้องให้คู่กรณีพิพาทตั้งคณะกรรมการการประนอมนี้ขึ้นมาก็ได้ อย่างไรก็ดี มีอยู่หลายครั้งที่คณะมนตรีความมั่นคงได้กระโดดเข้าไปทำหน้าที่ประนอมนี้เสียเอง โดยพยายามเข้าไปแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศในฐานะที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

Peaceful Settlement : Good Offices

การระงับข้อพิพาทโดยสันติ : การช่วยเป็นสื่อกลาง

เทคนิควิธีระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติอย่างหนึ่ง โดยมีฝ่ายที่สามเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง การไกล่เกลี่ยโดยให้รัฐที่สามมาเป็นคนกลางนี้ จะมีการดำเนินความพยายามทางการทูต เพื่อให้มีการรื้อฟื้นการเจรจาในระดับทวิภาคีระหว่างคู่กรณีพิพาทโดยตรง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทั้งคู่ระงับข้อพิพาทด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี หากไม่มีข้อกำหนดในสนธิสัญญากำหนดไว้เป็นการแน่นอน คู่กรณีพิพาทก็ไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องยอมรับการช่วยเป็นสื่อกลางของรัฐที่สาม ทั้งรัฐที่สามก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะแสดงความไม่พอใจเมื่อข้อเสนอของตนไม่เป็นที่ยอมรับของคู่กรณี

ความสำคัญ เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศแล้วการทูตในระดับทวิภาคีถึงทางตีบตัน การช่วยเป็นสื่อกลางนี้เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยสันติอย่างหนึ่ง ที่ฝ่ายที่สามเข้ามาแทรกแซงน้อยที่สุด กล่าวคือ รัฐที่สามจะมาทำหน้าที่เป็นช่องทางการติดต่อให้แก่คู่กรณีเท่านั้นเอง โดยที่จะไม่เอาตัวเองเข้าไปผูกมัดกับเรื่องที่คู่กรณีกำลังพิพาทกันอยู่นั้น สหรัฐอเมริกาเคยได้เสนอตัวช่วยเป็นสื่อกลางนี้ แต่ถูกปฏิเสธจากคู่กรณี ทั้งในช่วงที่เริ่มเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ความเป็นศัตรูระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นได้สิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ. 1945 โดยมีสวิตเซอร์แลนด์มาทำหน้าที่ช่วยเป็นสื่อกลางนี่เอง

Peaceful Settlement : Inquiry

การระงับข้อพิพาทโดยสันติ : การสืบสวน

การค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการและโดยปราศจากความลำเอียง เกี่ยวกับเรื่องที่คู่กรณีกำลังมีข้อพิพาทระหว่างประเทศอยู่นั้น วิธีดำเนินการสืบสวนนี้ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นมา ซึ่งจะแต่งตั้งโดยคู่กรณีเองก็ได้ หรือจะแต่งตั้งโดยผู้แทนองค์การระหว่างประเทศก็ได้ หลังจากที่คณะกรรมการได้ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ก็จะรายงานไปยังคู่กรณีหรือไปที่องค์การระหว่างประเทศนั้น หากการสืบสวนที่ว่านี้ไม่มีการใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยสันติอย่างอื่นติดตามมา เช่น การไกล่เกลี่ย หรือการช่วยเป็นสื่อกลาง คู่กรณีพิพาทก็ยังมีอิสระที่จะตัดสินใจว่าควรจะใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการเสนอมานั้นหรือไม่

ความสำคัญ เหตุผลที่ให้มีการใช้การสืบสวนนี้ก็เพราะมีความคิดว่า หากได้ข้อเท็จจริงที่เที่ยงตรงและไม่มีอคติแล้ว ก็จะช่วยให้คู่กรณีสามารถระงับข้อพิพาทระหว่างกันได้สำเร็จ นอกจากนี้แล้วคู่กรณีพิพาทเองก็อาจต้องการให้นำเรื่องของตนผ่านวิธีดำเนินการสืบสวนนี้ด้วยก็ได้ เพราะเป็นวิธีการที่ฝ่ายที่สามมิได้ให้ข้อเสนอแนะวิธีระงับข้อพิพาทเหมือนอย่างการไกล่เกลี่ยและการช่วยเป็นสื่อกลาง วิธีการแบบสืบสวนนี้ได้ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาแบบทวิภาคีต่าง ๆ แต่ที่เป็นแบบเป็นแผนจริง ๆ มีปรากฏครั้งแรกในอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติ (ค.ศ. 1899) นอกจากนี้แล้ว วิธีการแบบสืบสวนนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในวิธีการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติที่มีอยู่ในกติกาสันนิบาตชาติ และในกฎบัตรสหประชาชาติ การค้นหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสืบสวนนี้ เคยได้ใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ดอกเกอร์แบงก์ (เมื่อปี ค.ศ. 1904) ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเรือรบของรัสเซียได้จมเรือประมงของอังกฤษ นอกจากนี้แล้ว สันนิบาตชาติก็เคยใช้วิธีการนี้ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน (ลิตตัน คอมมิสชั่น) เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรียเมื่อปี ค.ศ. 1931 ความพยายามที่จะให้เกิดการประนีประนอมโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้จากคณะกรรมการชุดนี้ประสบความล้มเหลว และก็เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติในที่สุด

Peaceful Settlement : Mediation

การระงับข้อพิพาทโดยสันติ : การไกล่เกลี่ย

วิธีการระงับข้อพิพาทโดยสันติอย่างหนึ่ง ด้วยการให้ฝ่ายที่สามเข้ามาช่วยเหลือคู่กรณีในการหาข้อยุติ โดยการให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญ วิธีการไกล่เกลี่ยนี้อาจเป็นข้อเรียกร้องจากคู่กรณีเองก็ได้ หรือมีรัฐที่สามอาสามาช่วยไกล่เกลี่ยก็ได้ ในแนวปฏิบัติระหว่างประเทศนั้น คู่กรณีไม่มีสิทธิแม้ในช่วงที่กำลังเกิดความขัดแย้งกันอยู่นั้น ที่จะมองไปว่า การเสนอตัวเข้ามาไกล่เกลี่ยนี้เป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตร ทั้งคู่กรณีเองก็ไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องยอมรับข้อเสนอที่จะให้มีการไกล่เกลี่ยนี้อีกเหมือนกัน

ความสำคัญ การไกล่เกลี่ยนี้ จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสามารถลดความตึงเครียดระหว่างคู่กรณีลง แล้วสามารถประนีประนอมข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกันของคู่กรณีได้ การที่จะลดความตึงเครียดระหว่างคู่กรณีได้นั้น ต้องอาศัยเทคนิคที่ละเอียดอ่อนเป็นพิเศษและรู้จักการผ่อนสั้นผ่อนยาวเป็นอย่างดี ส่วนการที่จะประนีประนอมข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกันอยู่ให้ได้นั้น ก็ต้องอาศัยทักษะในการหาสูตรสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้คู่กรณียอมถอยหลังจากจุดยืนเดิมที่มีลักษณะสุดโต่งแล้วหันมาใช้วิธีการประนีประนอมแก้ไขปัญหาระหว่างกัน ความพยายามของประธานาธิบดี ธีออดอร์ รูสเวลท์ ที่จัดให้มีการลงนามในสนธิสัญญาพอร์ตสมัธ เพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1905 นับว่าเป็นตัวอย่างสำคัญของการใช้วิธีการไกล่เกลี่ยนี้ ความพยายามไกล่เกลี่ยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายเฮนรี คิสซินเจอร์ ในตะวันออกกลาง เรียกกันว่า ชัตเติล ดิโพลเมซี เพราะเป็นการบินเทียวไล้เทียวขื่อของเขา ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์

Peaceful Settlement : Plebiscite

การระงับข้อพิพาทโดยสันติ : การออกเสียงประชามติ

การให้ประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งกำลังมีปัญหากันอยู่นั้น ได้ออกเสียงลงประชามติกัน วิธีการออกเสียงประชามตินี้ ได้ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวโยงกับการยกดินแดนให้กัน ถึงแม้ว่าจะมีสนธิสัญญาการยกดินแดนกำหนดไว้เป็นที่แน่นอนว่า จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ แต่ก็ไม่มีหลักจารีตประเพณีของกฎหมายระหว่างประเทศ มาบังคับให้รัฐใด ๆ ต้องขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อนที่จะโอนอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนใด ๆ ตามกฎหมายแต่อย่างใด

ความสำคัญ แนวปฏิบัติในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโอนดินแดนกันนี้ ถึงแม้กฎหมายระหว่างประเทศจะมิได้บังคับว่าต้องกระทำ แต่ก็มีการปฏิบัติตามวิธีการนี้อยู่บ่อย ๆ นับตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เหตุผลที่ให้จัดการออกเสียงประชามติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ก็สืบเนื่องมาจากแนวความคิดแบบประชาธิปไตย ที่ถือว่าประชาชนเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย และจากหลักการที่ว่าประชาชาติมีสิทธิที่จะมีการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเอง ในสนธิสัญญาสันติภาพต่าง ๆ ที่ลงนามกันในช่วงปี ค.ศ. 1919 มีบางฉบับได้กำหนดให้จัดการออกเสียงประชามติก่อนจะทำการโอนดินแดนกัน แต่แนวปฏิบัตินี้มิได้นำมาใช้ในการโอนดินแดนอันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้ว่าอินเดียและปากีสถานจะได้ตกลงกันเมื่อปี ค.ศ. 1949 ว่าจะใช้วิธีการออกเสียงประชามติในกรณีแคว้นเคชเมียร์ แต่สหประชาชาติก็ยังไม่สามารถจัดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติได้สำเร็จ ตัวอย่างของการออกเสียงประชามติที่ได้จัดให้มีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ ที่จัดโดยสหประชาชาติในดินแดนภาวะทรัสตีเดิมหลายแห่งในทวีปแอฟริกา ก่อนที่ดินแดนเหล่านั้นจะได้รับเอกราช ต่อมาสหประชาชาติก็ได้เคยทำความตกลงกับอินโดนีเซีย เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินว่า คนพื้นเมืองบนเกาะนิวกินี (เวสต์ อิเรียน) ซึ่งเดิมอยู่ในปกครองของเนเธอร์แลนด์ ต้องการจะอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียหรือไม่ นอกจากนี้แล้วก็ยังได้มีการแนะนำให้ใช้วิธีการออกเสียงประชามตินี้เป็นแนวทางแก้ไขข้อพิพาทที่มีมายาวนานระหว่างอังกฤษกับสเปน เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของสองประเทศเหนือยิบรอลตาร์

Recognition, De Facto

การรับรองโดยพฤตินัย

การที่รัฐบาลของรัฐหนึ่งให้การรับรองแบบชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดเวลา ว่าระบอบการปกครองแห่งนั้นแห่งนี้มีอำนาจควบคุมเหนือดินแดนของรัฐที่สองอย่างแท้จริงแล้ว

ความสำคัญ การรับรองโดยพฤตินัยนี้ จะกระทำเมื่อมีหลักฐานปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า ระบอบการปกครองใหม่มีเสถียรภาพดีแล้ว หรือเมื่อได้พิจารณาในแง่ปฏิบัติว่า หากได้ทำการรับรองโดยพฤตินัยนี้แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างกัน เป็นต้น เมื่อระบอบการปกครองใดได้รับการรับรองโดยพฤตินัยนี้แล้ว ก็มิได้หมายความว่า ระบอบการปกครองนั้นได้รับการรับรองว่าได้อำนาจมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และการรับรองโดยพฤตินัยนี้ ก็ไม่จำเป็นว่าจะเป็นเงื่อนไขต่อไปให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นทางการหรือทางกฎหมายขึ้นมา

Recognition, De Jure

การรับรองโดยนิตินัย

การที่รัฐบาลหนึ่งได้ให้การรับรองอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากเงื่อนไขแก่อีกรัฐบาลหนึ่ง เมื่อได้ให้การรับรองโดยนิตินัยนี้แล้ว หากเกิดปัญหากับรัฐบาลที่ได้ให้การรับรองขึ้นมา เขาจะไม่ใช้วิธีการปฏิเสธลักษณะความเป็นตัวแทนของรัฐบาลนั้น หรือใช้วิธีถอนการรับรอง หากแต่จะใช้วิธีตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลนั้นไปเสียเลย

ความสำคัญ การรับรองโดยนิตินัย มักจะเกี่ยวข้องกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขั้นปกติต่อกัน การรับรองเช่นนี้ จะเรียกว่า “เอ็กเพรส” ในกรณีที่ติดตามมาด้วยการปฏิบัติการที่เป็นทางการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ติดต่อแลกเปลี่ยนบันทึกระหว่างกัน แสดงเจตจำนงและความพร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตปกติระหว่างกัน แต่การรับรองโดยนิตินัยนี้ จะเรียกว่า “แทซิต” ในกรณีที่ติดตามมาด้วยการปฏิบัติการบ่องบอกถึงเจตจำนงที่จะรับรอง เช่น มีการทำข้อตกลงทางกงสุลระหว่างกัน เป็นต้น

Recognition : Governments

การรับรองรัฐบาล

การกระทำอันเป็นทางการ เช่น มีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นการยอมรับความมีอยู่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง และระบุถึงความพร้อมของตนที่จะดำเนินการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลนั้น ๆ การรับรองรัฐใหม่ จะเป็นการรับรองที่สมบูรณ์มิได้หากไม่มีการรับรองรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจนั้นเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จึงมักเกิดความสับสนขึ้นเกี่ยวกับการรับรองรัฐและการรับรองรัฐบาล การรับรองรัฐนั้น เมื่อได้ให้การรับรองไปแล้ว การรับรองนั้นจะดำรงอยู่ตราบเท่าที่คุณสมบัติความเป็นรัฐของรัฐนั้นยังมีอยู่ต่อไป แม้ว่ารัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งของรัฐนั้นจะมิได้รับการรับรองก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น หลังการปฏิวัติ (บอลเชวิก) ในรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1917 สหรัฐอเมริกายังคงให้การรับรองรัฐรัสเซียอยู่ต่อไป แม้ว่าจะไม่ให้การรับรองรัฐบาลโซเวียตนั้นจวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1933 ก็ตาม ส่วนการรับรองรัฐบาลจะไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดกาล อาจจะให้การรับรองหรือถอนการรับรอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในแต่ละครั้งก็ได้ อย่างไรก็ดี การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตก็มิใช่การถอนการรับรองแต่อย่างใด

ความสำคัญ นักกฎหมายระหว่างประเทศมีความคิดแยกจากกันเป็นสองฝ่าย เกี่ยวกับข้อที่ว่าการรับรองรัฐบาลเป็นเรื่องของสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมายหรือไม่ แต่จากแนวปฏิบัติของรัฐต่างๆบ่งชี้ว่า การรับรองถือว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมืองฝ่ายเดียว แม้ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรองแก่รัฐบาลใหม่ๆที่แสดงว่าสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลแต่ทว่าในช่วงการบริหารของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันนั้น สหรัฐอเมริกาได้ตั้งเป็นเงื่อนไขไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่นั้นๆจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือมีความชอบธรรมจึงจะได้รับการรับรอง ในแถลงการณ์ของหลักนิยมเอสตราดา นายดอน เจนาโร เอสตราดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกมีความเห็นเมื่อปี ค.ศ. 1930 ว่า การให้การรับรองหรือถอนการรับรองด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นการแทรกแซงที่ไม่สมควรและน่าตำหนิในกิจการภายในของรัฐอธิปไตยอื่น ทั้งนี้เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการใช้ดุลยพินิจจากภายนอกมาตัดสินคุณสมบัติทางกฎหมายของรัฐบาลต่างประเทศ ข้างฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักนิยมเอสตราดานี้ได้ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของการรับรองมิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตัดสินแต่ทว่าเป็นเพียงความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ในการวางข้อกำหนดลักษณะของความเป็นผู้แทนที่จำเป็นให้แก่รัฐบาลใหม่ ใน ค.ศ. 1932 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา นายเฮนรี สติมสัน แถลงในคราวที่มีปฏิกิริยาตอบโต้ญี่ปุ่นที่บุกเข้าไปยึดครองแมนจูเรียว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่รับรองความถูกต้องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยที่เป็นเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศหรือสิทธิทางสนธิสัญญา(หลักนิยมสติมสัน) ในช่วงเกิดสงครามเย็นอยู่นั้นมักให้การรับรองและถอนการรับรองโดยถือว่าเป็นเทคนิคทางการเมืองที่กระทำตามอำเภอใจโดยให้ขึ้นอยู่กับการตีความผลประโยชน์ของรัฐโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่สหรัฐอเมริกาปฎิเสธที่จะให้การรับรองรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่าง ค.ศ. 1949 ถึง 1979

Recognition : States

การรับรองรัฐ

กระบวนการที่องค์กรทางการเมือง (รัฐ) หนึ่ง ๆ ได้กลายเป็นบุคคลระหว่างประเทศในทางกฎหมายระหว่างประเทศ กับทั้งได้รับการยอมรับจากรัฐทั้งหลายให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของประชาคมโลก เมื่อได้มีการรับรองความเป็นรัฐเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว สถานะความเป็นรัฐนั้นจะดำรงคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่ลักษณะความมีอธิปไตยของรัฐนั้นยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์การบริหารหรือในรัฐบาลอย่างไร ก็จะไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสถานะของรัฐแต่อย่างใด

ความสำคัญ เรื่องของการรับรองนี้ มีความสลับซับซ้อนมาก และก็มักเป็นเรื่องที่นำมาถกเถียงกันในแง่กฎหมายระหว่างประเทศอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะมีการยินยอมให้แต่ละรัฐสามารถใช้หลักการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้โดยอำเภอใจนั่นเอง การที่รัฐหรือรัฐบาลใด ๆ ไม่ได้รับการรับรองนั้น ก็จะทำให้รัฐหรือรัฐบาลนั้น ๆ อยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นการสูญเสียเกียรติภูมิเพราะสามารถติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตและทางกฎหมายกับรัฐหรือรัฐบาลอื่นได้อย่างจำกัด ประเด็นทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ถูกนำมาถกเถียงกันมากประเด็นหนึ่ง ก็คือว่า การรับรองนี้ควรเป็นไปตามหลัก “ดีแคลเรทิฟ” หรือว่าหลัก “คอนสทิทิวทิฟ” กล่าวคือ หากเป็นหลักดีแคลเรทิฟ ก็หมายความว่า รัฐหรือรัฐบาลใหม่มีสิทธิและความรับผิดชอบก่อนที่จะได้รับการรับรองอยู่แล้ว การรับรองจึงเป็นเรื่องของการแสดงความต้องการที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตปกติระหว่างกัน และต้องการที่จะให้ศาลภายในและศาลระหว่างประเทศมาทำหน้าที่ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ ตลอดจนแก้ไขข้อขัดแย้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่เหล่านี้ ในความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างสองฝ่าย หลักการแบบดีแคลเรทิฟนี้ได้รับการยอมรับยิ่งกว่าหลักคอนสทิทิวทิฟ ซึ่งบอกว่า การรับรองนี้เป็นการสร้างรัฐหรือรัฐบาลขึ้นมาให้อยู่ในประชาคมโลกโดยตรง ซึ่งหากยึดตามแนวของหลักคอนสทิทิวทิฟ ก็จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาเรื่องจำนวนของรัฐหรือรัฐบาลที่ให้การรับรองนั้น ว่ามีจำนวนเท่าใดถึงจะถือว่าเป็นการรับรอง หรือในกรณีที่รัฐหรือรัฐบาลซึ่งไม่ได้รับการรับรองนั้น จะมีอิสระที่จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นไปตามแนวทฤษฎีของคอนสทิทิวทิฟ ก็หมายความว่า เมื่อได้มีการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาแวร์ซายส์แล้ว ผู้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้ทำการรับรองและได้สร้างรัฐเชโกสโลวะเกีย และรัฐโปแลนด์ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1919 ในแนวปฏิบัติระหว่างประเทศนั้น แต่ละรัฐมีอิสระที่ใช้ทฤษฎีดีแคลเรทิฟ หรือทฤษฎีคอนสทิทิวทิฟ และการที่รัฐจะตัดสินใจว่า จะใช้ทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใด ก็มักยกเอาเรื่องของการเมืองมาพิจารณากันเป็นหลักเสมอ