การระงับข้อพิพาทโดยสันติ : การประนอม
วิธีดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยสันติอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่มีผู้แทนของกลุ่มรัฐต่าง ๆ มาทำการค้นหาข้อเท็จจริงที่เกิดข้อพิพาทกันอยู่นั้น แล้วใช้ข้อเท็จจริงนั้นเป็นรากฐานในการเสนอแนะทางแก้ปัญหาแก่คู่กรณี การประนอมนี้ซึ่งมักจะโยงใยไปถึงการสืบสวนข้อเท็จจริงด้วยนั้น จึงอาจถูกมองว่าเป็นการให้กลุ่มประเทศเข้ามาช่วยประนอม คือ อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นมาทำหน้าที่เฉพาะกิจ และบทบัญญัติเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยสันตินี้มีปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาหลายต่อหลายฉบับทั้งที่เป็นแบบทวิภาคีและแบบพหุภาคี ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติในกติกาสัญญาโบโกตาขององค์การรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา (ค.ศ. 1948) และในสนธิสัญญาบรัสเซลส์ ซึ่งลงนามในปี ค.ศ. 1948 เช่นเดียวกัน โดยเบลเยียม บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์
ความสำคัญ การประนอมในฐานะที่เป็นเครื่องมือการระงับข้อพิพาทโดยสันตินี้ มีลักษณะที่เป็นข้อดีอยู่หลายประการ ทั้งนี้ก็รวมทั้งเป็นวิธีการที่มีระบบแบบแผนดีเป็นแบบกึ่งทางกฎหมาย ส่วนการเสนอแนะของคณะกรรมการการประนอมก็มีน้ำหนักดี เพราะเป็นมติของกลุ่มรัฐ ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาตินั้น คณะมนตรีความมั่นคงสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นมาได้ หรืออาจเรียกร้องให้คู่กรณีพิพาทตั้งคณะกรรมการการประนอมนี้ขึ้นมาก็ได้ อย่างไรก็ดี มีอยู่หลายครั้งที่คณะมนตรีความมั่นคงได้กระโดดเข้าไปทำหน้าที่ประนอมนี้เสียเอง โดยพยายามเข้าไปแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศในฐานะที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
No comments:
Post a Comment